"ฤกษ์ผานาที"
(ฤกษ์ทำการมงคล)
โดย.......ณ. เณร
การให้ฤกษ์ทำการ เท่าที่เห็นมา น้อยรายที่ใช้กฎเกณฑ์ตามรูปแบบที่ท่านบูรพาจารย์กำหนดไว้ จะด้วยสาเหตุใดก็ไม่ทราบ สัณนิฐานเอาแต่เพียงว่า น่าที่ผู้ให้ฤกษ์โดยทั่วไปเกรงจะหาฤกษ์ทำการมงคลได้ยาก ก็เลยหยิบฉวยเอามาใช้เป็นบางส่วน จะได้หาฤกษ์ทำการง่ายขึ้น เมื่อหาฤกษ์ทำการมงคลได้ง่าย เงินค่าบูชาครูก็จะได้ไหลมาสะดวก และไม่ยุ่งยาก
หรืออีกประการหนึ่งอาจารย์นักให้ฤกษ์บางท่าน หรืออาจจะหลายท่าน ยังงงงวยอยู่ไม่รู้ว่าจะเอากฎเกณฑ์อันมีอยู่มากมายเหล่านั้น มาใช้ในส่วนใดบ้าง
บางฤกษ์ เป็นฤกษ์ที่รู้กันโดยทั่วไปอย่างเปิดเผย ถึงวันเวลาที่จะทำการมงคล เพราะเป็นฤกษ์สำคัญระดับประเทศ พอเอากฎเกณฑ์หรือหลักของท่านครูบาอาจารย์เจ้าของตำราเข้าไปตรวจสอบ วันเวลาที่เป็นมหามงคลฤกษ์ ที่จะทำการนั้น ผิดเพี้ยนกันไปคนละทิศละทาง บางท่านกำหนดเอาเวลาที่เป็นปฐมฤกษ์ยาวนานกันเป็นชั่วโมง ซึ่งความจริงแล้วตามตำราว่าด้วยการวางลัคนาดวงฤกษ์ ที่อย่างยาวจะไม่เกิน ๑๘ นาที ๔๐ วินาทีต่อนวางค์
ด้วยเหตุที่เห็นมากับตาหลายคราว จึงคิดว่า นับวันตัวก็เป็นไม้ใกล้ฝั่งเข้าไปทุกที รอแต่น้ำจะเซาะจนถอนรากถอนโคนลอยตามน้ำไปเมื่อไรก็ไม่รู้
น่าจะนำมาบอกกล่าวเล่าสู่กันฟัง ต่อคนรุ่นใหม่ หรือรุ่นราวคราวเดียวกัน ถึงสิ่งที่ได้ผ่านพบ และเคยลูบคลำมากับมือเกิน ๓๐ ปี ก็ไม่น่าจะมีใครถือเป็นเรื่องอวดรู้อวดเก่งแต่ประการ หากจะมีบ้างเป็นส่วนน้อย ก็ถือเสียว่ามันช่างเป็นเวรกรรมของนาย ณ. เณร เสียนี่กระไร ที่เกิดมากับเขาชาติหนึ่งไม่สามารถทำอะไรให้ถูกใจคนทั้งหลายได้
ได้คิดมาถึงตรงนี้ ก็เลยคิดต่อไปว่าถ้าบังเอิญมีคนหลงผิดมาอ่านเข้า แล้วนำไปทำประโยชน์ได้สักคน-สองคน พอเป็นความดีบ้างเล็กน้อย ผมก็จะขอยกยอดความดีที่ว่านี้ เป็นเครื่องบูชาคุณของท่านบูรพาจารย์ ที่ได้เมตตาชี้แนะให้ผมพ้นจากความมืดบอด แห่งวิชาการนี้มาได้อย่างหวุดหวิด เพราะว่าถ้าไม่มีครูบาอาจารย์มาสอนสั่ง ผมก็คงเป็นคนตาบอดอีกแสนนาน
ทีนี้เมื่อตั้งใจจะบอกกล่าวกัน ผมก็ต้องบอกกล่าวหรือทำความเข้าใจให้ชัดเจนกันตั้งแต่ต้น จะเป็นการดี ไม่เช่นนั้นจะมีข้อกล่าวหาเกิดขึ้นภายหลังได้ว่านาย ณ.เณร นี่เป็นคนยังไงกันแน่ ? จะบอกทั้งทียังมีกิ๊กมีกั๊ก
อันว่าวิชาการโหราศาสตร์ แท้จริงมีอยู่หลายภาคหรือหลายคัมภีร์ ชนิดถ้าเรียนกันให้รอบรู้จริงทุกภาคคงต้องตายแล้วเกิดอีกสักรอบสองรอบ จึงจะรู้แจ้งแทงตลอดได้หมด
ผมเองร่ำเรียนมาเฉพาะภาคของการพยากรณ์และการให้ฤกษ์มงคล เพราะเล็งเห็นว่า ๒ ภาคนี้มีความสำคัญ สามารถนำมาใช้กับคนทั่วไปได้กว้างขวางกว่า อีกประการหนึ่ง คนใดที่มีความรู้ใน ๒ วิชาที่ว่านี้ ย่อมสามารถอยู่ห่างไกลจากการอดตายได้อย่างเต็มภาคภูมิในบั้นปลายของชีวิต
ที่เป็นหลักของวิชาการให้ฤกษ์มงคลถ้าจะแยกอย่างหยาบ ๆ จะมีอยู่ ๒ ประการ คือ
· การตรวจสอบฤกษ์ทำการ
· การวางลัคนาดวงฤกษ์ทำการ
การตรวจสอบฤกษ์ทำการ
เรื่องนี้อธิบายได้ว่า ฤกษ์ที่เราสามารถนำมาทำการได้ ทั้งหมดมีอยู่ ๒๗ ฤกษ์ ๆ ที่ ๑-๒๗ เรียกต่าง ๆ กัน ฤกษ์เหล่านี้เกิดจากการที่พระจันทร์ที่เราเห็นอยู่บนท้องฟ้า โคจรรอบโลก พระจันทร์มีอัตราการโคจรรอบโลกรอบหนึ่ง ประมาณ ๓๐ วัน
ใน ๓๐ วันที่ว่านี้พระจันทร์ต้องผ่านกลุ่มดาวฤกษ์ไปด้วย ๒๗ กลุ่ม แต่ผมจะไม่นำมากล่าวในตอนนี้ ท่านผู้อ่านคนใดใจร้อนอยากรู้ต้องไปหาตำรามาอ่านเอง ซึ่งมีอยู่มากมาย หรือจะอดใจรอผมนำมาแจงให้ฟังในวันหลังได้ก็ตามใจ
ฤกษ์ทำการ ๒๗ ฤกษ์นี้ จะนำมาใช้ทั้งหมดไม่ได้ เพราะบางฤกษ์เป็นฉินทฤกษ์เป็นฤกษ์ต้องห้าม บางตำราก็ว่าเป็นฤกษ์อกแตก ที่อกแตกเพราะบาทฤกษ์ที่มีอยู่ ฤกษ์ละ ๔ บาทฤกษ์นั้น มันไปคาบเกี่ยวอยู่ใน ๒ ราศี ก็เลยกลายเป็นฤกษ์ที่มีอยู่ ๒ ธาตุ คือไฟผสมดิน ดินผสมลม ลมผสมน้ำ ซึ่งถ้าเราคิดให้เป็นธรรมชาติแล้ว จะเห็นว่าผสมกันไม่ได้จริง ๆ ที่ถูกคอกัน ไฟต้องผสมกับลม ดินต้องผสมกับน้ำ
แต่ผมเห็นบางคนนิยมใช้กัน ผมลองหน้าด้านฝ่าฝืนคำครูบาอาจารย์ใช้บ้าง ปรากฏผลไม่ได้เรื่อง
ฤกษ์อกแตกหรือฉินทฤกษ์ที่ว่านี้มีอยู่ ๙ ฤกษ์ คือฤกษ์ที่ ๓-๑๒-๒๑-๕-๑๔-๒๓-๗-๑๖-๒๕ รวมแล้ว ๙ ฤกษ์พอดี เมื่อหักลบกันแล้ว ฤกษ์ที่นำมาทำการมงคลได้ ๑๘ ฤกษ์ นอกนั้นผมถือว่าเป็นฤกษ์อัปมงคล
ฉินทฤกษ์ที่ผมถือว่าเป็นฤกษ์อัปมงคล คือฤกษ์ที่อยู่ในหมวดฤกษ์ โจโร เทศาตรีและเพ็ชฆาต
ส่วน 18 ฤกษ์ที่เป็นมงคลที่นำมาใช้งานได้ ถ้าไม่ถูกข้อห้าม คือฤกษ์ที่อยู่ในหมวดฤกษ์ ทลิทโธ มหัทธโน ภูมิปาโล เทวี ราชา สมโณ
ฤกษ์ ๑๘ ฤกษ์นี้แหละที่เราต้องเอามาตรวจสอบกันวันต่อวันว่าทำการมงคลได้ในวันใดบ้าง จากเวลาใดถึงเวลาใด กฎเกณฑ์ที่นำมาตรวจสอบคือ
- เกณฑ์กนกนารี
- เกณฑ์จักขุมายา
- เกณฑ์ฤกษ์มหาศูนย์
การตัดฤกษ์
แต่ก่อนอื่น คือการจะเอาฤกษ์ที่ต้องการไปทำการ เราต้องรู้ที่มาที่ไปของฤกษ์ ว่า ในวันใดพระจันทร์เสวยฤกษ์ที่เท่าใด อยู่ในหมวดฤกษ์ใด เริ่มที่เวลาใด สิ้นสุดเวลาใดให้แน่ชัด
การตรวจสอบฤกษ์ทั้ง ๓ เกณฑ์นี้ ถ้าสามารถผ่านข้อห้ามได้ทั้งหมดจะดีมาก ผ่านได้เพียง ๒ อย่างพอทำการได้ ถ้าห้าม ๒ เกณฑ์ไม่ควรทำ เรียกว่า ร้ายมากกว่าดี ต้องดีมากกว่าร้าย จึงพอลดโทษได้
สำหรับรายละเอียดข้อห้ามทั้ง กนกนารี จักขุมายา ฤกษ์มหาศูนย์ ผมจะนำมาว่ากันโดยละเอียดในโอกาสหน้า ในตอนนี้จะขอนำเรื่องการวางดวงฤกษ์ทำการมงคลมาว่ากันก่อน
การวางลัคนาดวงฤกษ์ทำการ
เรื่องของการวางลัคนาดวงฤกษ์ทำการ ก็เพื่อต้องการให้รู้ว่า ในฤกษ์ทำการหนึ่ง ๆ ที่ว่าดี ผ่านการตรวจสอบฤกษ์มาแล้ว มันดีเรื่องอะไรบ้าง เวลาปฐมฤกษ์และสุดฤกษ์เป็นเวลาใดของวัน เช่นเช้า สาย บ่าย เย็น ดังนี้เป็นต้น
กฎเกณฑ์ของการวางลัคนาดวงฤกษ์อย่างเต็มรูปแบบแล้วมีมากมาย แต่ที่สำคัญ ๆ พอสรุปได้ดังนี้
๑. ต้องวางลัคนาดวงฤกษ์ตามเกณฑ์กนกกุญชร ไม่ควรวางในราศีต้องห้ามเป็นอันขาด
๒. ต้องวางลัคนาดวงฤกษ์ตามข้อบังคับการวางลัคนาตามราศีธาตุ ห้ามนวางค์ต้องห้าม
๓. ห้ามวางลัคนาดวงฤกษ์เป็นอริมรณะวินาศดวงชะตาเจ้าการ
๔. ห้ามวางลัคนาดวงฤกษ์ในราศีกาลกิณีวันทำการ เช่นฤกษ์ทำการมงคลขึ้นบ้านใหม่วันอาทิตย์ แต่วางลัคนาดวงฤกษ์ในราศศีตุลย์ ดังนี้เป็นต้น
๕. ห้ามวางลัคนาดวงฤกษ์ทำการมงคลในราศีกาลกิณีของเจ้าการ เช่น เจ้าการเกิดวันศุกร์ ไม่ควรวางลัคนาฤกษ์ในราศีกุมภ์
๖. ไม่ควรวางลัคนาดวงฤกษ์ให้เกาะนวางค์กาลกิณีของวันทำการหรือนวางค์กาลกิณีของวันเกิดเจ้าการ ถ้าจำเป็นให้วางเกาะนวางค์ปุชั้น ๑ เพื่อป้องกันเหตุร้าย
๗. ไม่ควรวางลัคนาดวงฤกษ์ให้ พฤหัสบดี ๕ จันทร์ ๒ และอาทิตย์ ๑ เป็นอริมรณะวินาศ
๘. ไม่วางลัคนาดวงฤกษ์ทำการมงคลให้เสาร์ ๗ หรือราหู ๘ จร ทับหรือเล็งลัคน์
๙. ไม่วางลัคนาดวงฤกษ์มงคลให้พฤหัสบดี ๕ จรอยู่ในเรือนอริมรณะวินาศ
๑๐.ไม่ควรวางลัคนาดวงฤกษ์มงคลให้ดาวกาลกิณีวันทำการกุมลัคน์
๑๑.ไม่วางลัคนาดวงฤกษ์ให้ดาวกิจการที่ต้องการในดวงฤกษ์เสีย
๑๒. ต้องวางลัคนาดวงฤกษ์ทำการมงคลให้สัมพันธ์ดีกับดาวพฤหัสบดี ๕ จรนานที่สุดเท่าที่จะ
ทำได้
๑๓. ห้ามวางลัคนาฤกษ์มงคลเกาะนวางลูกพิษต่าง ๆ
๑๔. ห้ามวางลัคนาฤกษ์มงคลเกาะนวางค์ที่เป็นฉินทฤกษ์
สรุปแล้วการวางลัคนาดวงฤกษ์มงคลมีข้อที่ต้องระวังมาก จนแทบจะวางลัคนาดวงฤกษ์ไม่ได้เลย เราจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ อย่าทำอะไรแบบขอไปที หรือเพียงต้องการผลประโยชน์ที่จะได้รับ
โดยเฉพาะฤกษ์ทำการมงคลที่เจ้าของกิจการต้องใช้การลงทุนมาก เช่นการลงทุนเปิดโรงงานที่ต้องใช้ทุนเป็น 10 ล้าน 100 ล้าน
ผมเคยประสบมา โหรผู้ให้ฤกษ์ระดับครูบาอาจารย์ที่กำลังดังกระฉ่อนอยู่ขณะนี้ วางลัคนาดวงฤกษ์ไว้ในราศีกรกฏร่วมกับพฤหัสบดี ๕ จร ในระยะไม่นานนักเสาร์ ๗ จรเข้าราศีมังกรเล็งลัคนาดวงฤกษ์ พฤหัสบดี ๕ อยู่ 1 ปี แต่เสาร์ ๗ จรเล็ง 2 ปีครึ่ง เรียกว่ากิจการอยู่ปีเดียว พอพฤหัสบดี ๕ ย้ายทุกอย่างก็เรียบร้อย นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่โหรพึงระวัง (มีต่อ)
เมื่อนำหลัการตรวจสอบฤกษ์ทำการและหลักการวางลัคนาดวงฤกษ์มงคลมาชั่งน้ำหนักแล้ว การวางลัคนาดวงฤกษ์เป็นสิ่งทีต้องระวังมากที่สุด และแน่นอนจะต้องเป็นการยากเย็นแสนเข็ญสำหรับคนมือยังใหม่
แต่จะอย่างไรก็ตามผมยังยืนยันว่า สิ่งที่ยากเย็นเหล่านั้น เราก็ทำให้ง่ายขึ้นมาได้
โดยการพยายามเปิดดูปฏิทินดาวจรประจำวันบ่อย ๆ ยิ่งถ้าเป็นไดอารี่ส์ของ อาจารย์ ทองเจือ อ่างแก้วจะดีมาก เพราะท่านเขียนดาวจรประจำราศีทุกวัน ถ้าวันใดเห็นอาทิตย์ ๑ เกาะกลุ่มอยู่กับดาวพุธ ๔ ดาวศุกร์ ๖ ถ้าทำการวันพฤหัสบดีจะดีมาก เพราะเราจะได้ดาวมนตรีและดาวเดชกุมลัคน์ดวงฤกษ์ ถ้าวางลัคนาดวงฤกษ์ในราศีพิจิกได้ ก็จะได้ดวงฤกษ์อสีติธาตุ ดังนี้เป็นต้น
แต่ถ้าทำการในวันเสาร์หรือวันอาทิตย์เราก็จะได้ดาวศรีและกาลีกุมลัคนาดวงฤก์ทันที สามารถทำให้ดวงฤกษ์ทำการเสื่อมได้ เช่นถ้าทำการวันเสาร์ จะเสื่อมเรื่องการประชาสัมพันธ์ ถ้าทำการวันอาทิตย์จะเสื่อมเรื่องการเงินและความรัก
เมื่อสังเกตุดาวประจำวันคล่องแคล่วแล้ว ให้ดูว่าวันทำการนั้นเป็นวันที่พระจันทร์เสวยฤกษ์อะไร เกณฑ์กนกกุญชรให้วางลัคนาราศีอะไร ห้ามราศีอะไร สำหรับราศีที่ไม่ส่งเสริมว่าดี และไม่ห้าม ถ้าจะวางลัคนาในราศีนั้นโดยมีดาวอื่นประกอบดีก็ทำได้ ให้ลองวางลัคน์ดวงฤกษ์ก่อนแล้วค่อยไปตรวจข้อห้ามต่าง ๆ ในภายหลัง ถ้าดวงฤกษ์ออกมาไม่ดีก็เปลี่ยนวันใหม่ได้
เกณฯฑ์กนกนารี
เกณฑ์นี้เป็นเกณฑ์การตรวจสอบฤกษ์ทำการโดยตรง ว่าฤกษ์ทำการที่จะนำมาใช้ ในวันใด ๆ นั้นเขามีข้อห้ามหรือข้อส่งเสริมไว้อย่างไรบ้าง ไม่ใช่พอเห็นว่าเป็นฤกษ์ดี ๆ แล้วจะใช้ได้ทุกวัน
ขอยกตัวอย่างดังนี้
เช่นจะทำการอย่างใดอย่างหนึ่งในวันเสาร์ที่ 17 มกราคม 2552
ในวันนั้นพระจันทร์เสวยฤกษ์ที่ 13 หมวดภูมิปาโลฤกษ์
ตามเกณฑ์กนกนารีเขาให้ทำการได้ใน วันอาทิตย์ จันทร์ อังคาร เท่านั้น
วันเสาร์ ต้องห้าม ทำไม่ได้ ถ้าขืนทำการในวันเสาร์จะมีโทษ "ทำการนานไปไฟจะไหม้แล(จะเจ็บไข้แล)
จะเห็นได้ว่าไม่ใช่พอเป็นฤกษ์ที่อยู่ในหมวดภูมิปาโลฤกษ์ซึ่งถือเป็นหมวดฤกษ์ที่ดี แล้วจะทำการได้เสมอไป
เกฏกณฑ์ข้อห้าม "กนกนารี" ระบุโทษไว้ชัดเจนและรุนแรง ถ้าใครฝ่าฝืนจะมีโทษแน่ ไม่ตกแก่ผู้ใช้ฤกษ์ก็จะตกแก่คนให้ฤกษ์
เกณฑ์จักขุมายา
เกณฑ์จักขุมายา เป็นอีกอย่างหนึ่งที่นำตรวจสอบฤกษ์ ว่าฤกษ์ใดบ้างที่ทำการได้ในวันนั้น ๆ การตรวจให้นำฤกษ์ที่จะทำการมาบวกกับเกณฑ์วัน ในวันที่จะทำการ แล้วหารด้วย 7 ถ้ามีเศษ 1-2-3 ห้ามทำการ เศษ 4-5-6-7 ทำการได้
ตามตัวอย่างข้างบน ฤกษ์ที่จะทำการคือ ฤกษ์ที่ 13 ในหมวดภูมิปาโล เกณฑ์ประจำวันเสาร์ 3 เมื่อบวกกับฤกษ์ทำการแล้วจะได้ 16 หารด้วย 7 เหลือเศษ 2 ห้ามทำการ ตำนานฤกษ์บอกว่า "กาฬกิณีแสนเข็ญ"
เกณฑ์ฤกษ์มหาศูนย์
เกณฑ์ฤกษ์มหาศูนย์ เป็นอีกเกณฑ์หนึ่งที่นำมาตรวจสอบฤกษ์ที่จะทำการว่าดีหรือไม่ดี หลักใหญ่มีข้อบังคับว่าให้ดูพระอาทิตย์ในวันจะทำการสถิตราศีใด จะห้ามฤกษ์เอาไว้เลย ไม่ต้องต้องไปคิดคำนวณ
ตามตัวอย่างที่กล่าวไว้ว่า ทำการในวันเสาร์ที่ 17 มกราคม 2552
ในวันดังกล่าวอาทิตย์ ๑ โคจรอยู่ในราศีมังกร ห้ามทำการฤกษ์ที่ 2 คือฤกษ์ในหมวดมหัทธโน
แต่ในวันที่จะทำการเป็นฤกษ์ 13 ดังนั้นถือว่าทำการได้ ไม่ต้องห้าม
ดังที่กล่าวไว้ กฏเกณฑ์การตรวจสอบฤกษ์ 3 อย่าง คือ กนกนารี จักขุมายา และฤกษ์มหาศูนย์
ถ้าดี 3 ข้อจะดีมาก ทำการได้ดี
ถ้าดี 2 ทำการได้ดีพอใช้
ถ้าดี 1 ห้ามทำการ
ทีนี้เมื่อผ่านการตรวจสอบฤกษ์ที่จะทำการว่าดีหรือไม่ครบ 3 ขบวนการแล้ว
ก็มาถึงขั้นตอนการวางดวงฤกษ์
วางลัคนาดวงฤกษ์ตามเกณฑ์กนกกุญชรการ
การวางลัคนาดวงฤกษ์ ย่อมต้องมาจากเวลาปฐมฤกษ์ มิฉะนั้นจะวางลัคนาดวงฤกษ์ไม่ได้ เช่นเดียวกับคนที่ไม่มีเวลาเกิดก็ย่อมวางดวงชะตาของคน ๆ นั้นไม่ได้
ตามตัวอย่างที่สมมุติขึ้นว่าจะหาฤกษ์ทำการใน วันเสาร์ที่ 17 มกราคม 2552
- ถ้าในวันดังกล่าวนี้ กฏเกณฑ์ห้ามฤกษ์ทำการ นกนารี จักขุมายา และฤกษ์มหาศูนย์ผ่าน ก็จะมาถึงขั้นตอนการหาเวลาปฐมฤกษ์และเวลาสุดฤกษ์ ซึ่งก็จะเป็นไปตามกฏ ไม่มีข้อยกเว้น
- ตามกฏเกณฑ์กนกกุญชร บังคับไว้ว่า ถ้าทำการในวันเสาร์ และใช้ฤกษ์ที่ 13
- ให้วางลัคนาดวงฤกษ์ได้ในราศีตุลย์เท่านั้น ราศีอื่นห้ามเด็ดขาด
- หลักการจะวางดวงฤกษ์ ต้องมาจาก ราศี องศา ลิปดาของอาทิตย์ในวันทำการเท่านั้น
- เคยมีบางท่าน วางลัคนาดวงฤกษ์จากองศ่ลิปดาของดาวจันทร์ ๒
- โดยอ้างว่า เมื่อฤกษ์มาจากการโคจรของพระจันทร์ ๒
- ดังนั้นจึงต้องเอาราศี องศา ลิปดาของจันทร์ ๒ ในวันทำการมาวางลัคนา ข้อนี้เป็นการเข้าใจที่ไม่ถูกต้องครับ !
- ต้องใช้พระอาทิตย์ ๑ ครับ และในวันดังกล่าว อาทิตย์ ๑ สถิตราศีมังกร 3 องศา 30 ลิปดา
วิธีการ
ให้เอาองศาลิปดาของอาทิตย์ ๑ ที่โคจรมาแล้ว ไปลบออกจาก องศาในราศีมังกร ซึ่งมี 30 องศาต่อ 1 ราศี เพื่อต้องการจะทราบว่าเหลืออีกกี่องศา ที่อาทิตย์ ๑ จะโคจรไปจนสุดราศีมังกร จากที่สมมุตินี้คือ 30.00-3.30 องศา เหลือองศาที่อาทิตย์ต้องโคจรอีก 26.30 องศา
- เป็นที่ทราบกันว่า ในราศีมังกร มีอันโตนาที หรือนาทีนาฬกาอยู่ 72 นาที
- ให้กระจาย 30 องศาในราศีมังกรให้เป็น ลิปดา จะได้เท่ากับ 1800 ลิปดา
- ให้กระจาย 26.30 องศาเป็นลิปดาด้วย จะได้เท่ากับ 1563 ลิปดา
- ทีนี้เทียบว่า 1800 ลิปดาต้องใช้เวลาในการโคจร 72 นาที หรือเท่ากับ 1 ชม. 12 นาที
- ถ้า 1563 ลิปดาจะใช้เวลาเท่าใด? จะได้เท่ากับ 61 นาที 01 วินาที หรือเท่ากับ 1 ชม 1 นาที 1 วินาที
- และนี่คือคำตอบว่า องศาลิปดาที่อาทิตย์ ๑ ต้องโคจร 26.30 องศา ต้องใช้เวลา 61 นาทีกับอีก 01 นาที หรือเท่ากับ 1 ชม. 1 นาที 1 วินาที ถ้าทำให้เป็นเวลานาฬิกา ก็จะสุดราศีมังกรที่กรุงเทพฯ เวลา 6.18+1.1.1 เท่ากับ 07.19 น. นี่คือการหาอาทิตย์สุดราศีในวันทำการครับ
- ต่อไปก็ให้นำอันโตนาทีของแต่ละราศีมาบวกเรื่อย ๆ ไปจนสุดราศีกันย์ จากนั้นก็จะเริ่มเข้าราศีตุลย์ การบวกเข้าราศีตุลย์ต้องบวกทีละ 18 นาที 40 วินาทีต่อนวางค์ ไปจนถึงนวางค์ที่ 3 คือนวางค์พฤหัสบดี ๕ อันเป็นนวางค์เดียวที่อนุญาตให้วางลัคนาดวงฤกษ์ได้ นอกนั้นห้ามทั้งหมด
- จะได้เวลาปฐมฤกษ์เวลา 23.32 น. สุดฤกษ์ทึ่ 23.50 น.
ทั้งปวงนี้ คือวิธีการหาเวลาปฐมฤกษ์ เพื่อนำไปผูกดวงฤกษ์ทำการ จะได้ตรวจสอบว่าที่แท้ดวงฤกษ์ดีหรือไม่ประการใด ? ถ้าดวงฤกษ์ไม่ดีก็ต้องหาใหม่ จนกว่าจะได้ดีตามที่เราต้องการ เพราะมีกฏว่า ฤกษ์ที่ดีต้องปลอดข้อห้าม และดวงฤกษ์ทำการดีด้วย จึงถือเป็นฤกษ์ที่ดีสมบูรณ์
คำขอร้อง หัดคิดตามและตั้งเลขบวกลบคูณหารไปด้วย กรุณาอย่าอ่านแบบหนังสืออ่านเล่น มิฉะนั้นจะไม่รู้เรื่อง หรือไม่เข้าใจ แล้วจะหาว่าผมโง่ เขียนไม่รู้เรื่องไม่ได้นะครับ ! อย่าลืมว่านี่เป็นเพียงตัวอย่าง ตัวเลขอาจจะเคลื่อนไปบ้าง แต่ก็ใกล้เคียงที่สุด ผมเพียงบอกวิธีการทำที่ง่าย ๆ ให้พอเป็นแนวทางเท่านั้น
ถ้าจะนำมาสรุปให้ชัดเจน ในเรื่องของการหาฤกษ์ทำการ ต้องทำดังนี้
- เลือกฤกษ์ที่จะทำการให้ได้เสียก่อน
- ตรวจสอบตามกณฑ์กนกนารี
- ตรวจสอบเกณฑ์จักขุมายา
- ตรวจสอบฤกษ์มหาศูนย์
- เมื่อได้ฤกษ์ที่ทำการแล้ว ต้องตัดฤกษ์เพื่อให้รู้ว่าฤกษ์นั้นเริ่มต้นที่เวลาใด สิ้นสุดที่เวลาใด(ในไดอารี่ส์ อ.ทองเจือบอกไว้ให้แล้ว แต่เราก็ควรตัดฤกษ์เป็นด้วย (ถ้าผมไม่ลืมจะบอกวิธีการให้)
- หาอาทิตย์สุดราศีในวันนั้นให้ได้ เพื่อเป็นวางลัคนาดวงฤกษ์
1. กฏเณฑ์การวางลัคนาดวงฤกษ์ทำการ
ที่ผ่านมาผมได้บอกเฉพาะหัวข้อ ไม่ได้แจงละเอียด รับรองว่าต้องมีคนไม่เข้าใจบ้าง แค่ข้อ 1. ที่ว่าการวางลัคนาดวงฤกษ์ต้องวางตามเกณฑ์บังคับของกนกกุญชร ก็มีคนอยากรู้แล้วว่ามันอะไรกัน ช้างมันมาเกี่ยวข้องอะไรกับการให้ฤกษ์ ผมเองก็ไม่รู้ครับ ผมว่าน่าจะเป็น "กนกบัญชร"มากกว่า แต่เอาเถอะอย่าคิดมาก เอาตามตำนานที่ท่านว่าไว้ดีกว่า
อันเกณฑ์กนกกุญชรที่ว่านี้ เป็นการบังคับการวางลัคนาดวงฤกษ์ที่ไม่มีใครกล้าฝ่าฝืน เพราะโทษของการฝ่าฝืนรุนแรง ถึงขั้นพิการ หรือตาย หรือไฟไหม้เป็นต้น
ตัวอย่างเช่น ทำการวันเสาร์ ใช้ฤกษ์ที่ 7-8-9 วางลัคน์ กรกฎ กุมภ์ ทำการแล้ว 6 เดือนจะได้ลาภสัตว์ 4 เท้า 2 เท้า ถ้าวางลัคน์สิงห์ ตาจะบอด มือตีนจะหักแล
คือห้ามแต่ละฤกษ์ เป็นวัน ๆ ไป จนครบ 27 ฤกษ์ อย่างฤกษ์ 7-8-9 นี้ถ้าเปลี่ยนมาทำวันศุกร์ ตำนานกล่าวไว้ว่า วางลัคนาฤกษ์ราศีสิงห์ดีนัก 2 ปีจะได้ลาภ อยู่เย็นเป็นสุข ดังนี้ ถ้าท่านอยากจะรู้เกณฑ์ข้อห้ามท่านก็ลองไปดูในเมนูย่อยเอาเอง ผมขี้เกียจคัดลอกมาลงซ้ำ
2. ต้องวางลัคนาดวงฤกษ์ตามข้อบังคับการวางลัคนาตามราศีธาตุ
ข้อนี้เป็นการบังคับให้วางลัคนาดวงฤกษ์ละเอียดลงไปอีกชั้น เพื่อความปลอดภัยทั้งผู้ให้ฤกษ์และคนที่ใช้ฤกษ์ ไม่ใช่พอบอกว่าวางลัคน์ฤกษ์ราศีนั้น ราศีนี้ดี แล้วก็หลับตาวางไป ไม่เลือกหา"นวางค์" ที่ดี เช่นไม่เป็นนวางค์ขาด นวางค์กาลกิณีวันเกิด กาลกิณีวันทำการ นวางค์ลูพิษ
แบบนี้มีโทษหนักเหมือนเกณฑ์กนกกุญชร เช่น วางลัคนาดวงฤกษ์ในราศีเมษ-สิงห์-ธนู ที่ว่าดีตามเกณฑ์กนกกุญชรแล้ว แต่ไปเกาะนวางค์ที่ 7 เข้า ตำนานกล่าวโทษไว้ว่า "จะเห็นคนพาลูกเมียมาทางทิศบูรพา ทำการแล้วเจ้างานจะได้ลาภ แต่โหรผู้ให้ฤกษ์ลูกจะตายคนหนึ่ง"
แต่ในบางคราวเราจำเป็น ที่ว่าจำเป็นคือ เพื่อให้ดาวบางดวงที่เราต้องการ ให้อยู่ในตำแหน่งที่ดี เราก็ปรับเวลาใหม่โดยการวางลัคนาดวงฤกษ์ไว้ใน"นวางค์ปุ" แทน นวางค์ปุนี้ถ้าเป็นชั้น 1 สามารถคุ้มโทษได้ นวางค์ปุผมจะนำมากล่าวในภายหลัง แต่ก็มีอยู่ทุกราศี นวางค์ที่ดี ผมก็มีบอกไว้แล้วในหน้าหัวข้อเมนูย่อย
๓. ห้ามวางลัคนาดวงฤกษ์เป็นอริมรณะวินาศดวงชะตาเจ้าการ
ข้อนี้เป็นของไม่ยาก เพราะโดยหลักการแล้ว การจะให้ฤกษ์ทำการให้กับใคร ไปทำการอะไร เราต้องตรวจสอบดวงชะตาของเขาก่อน เพื่อให้รู้ว่า ณ เวลานั้น ๆ เขาเริ่มกิจการได้ไหม? คือเมื่อเริ่มงานแล้วไปรอดไหม? ถ้าดวงเขาในระยะนั้นไม่ดี ให้ฤกษ์ดีอย่างไร ก็ไม่สามารถช่วยได้ อย่างมากพอพาตัวรอดเท่านั้น ดีไม่ดีคนให้ฤกษ์นั่นแหละจะต้องรับกรรม
อย่างเช่นดวงชะตาของเจ้าการหรือผู้มาขอฤกษ์มีลัคนาสถิตราศีเมษ แล้วเราวางลัคนาดวงฤกษ์ในราศีกันย์และราศีพิจิก ซึ่งเป็นเรือนอริ มรณะของราศีเมษ ถ้าวางไว้ในราศีมีน เป็นวินาสน์ พอใช้ได้ ถ้าจะเป็นทำได้ เพราะอย่างไรลัคนาของเจ้าการก็อยู่ในเรือนกะดุมภะของดวงฤกษ์
4. ห้ามวางลัคนาดวงฤกษ์ในราศีกาลกิณีวันทำการ
ตัวอย่างเช่นถ้าทำการวันจันทร์ ห้ามวางลัคนาดวงฤกกษ์ไว้ในราศีสิงห์ เพราะราศีสิงห์ดาวเจ้าเรือนคืออาทิตย์ ๑ และอาทิตย์ ๑ เป็นกาลกิณีของจันทร์ ๒ ถ้าทำการวันอังคาร ห้ามวางลัคนาดวงฤกษ์ไว้ในราศีกรกฎ ทำการในวันพุธ ห้ามวางลัคนาดวงฤกษ์ในราศีเมษและพิจิก ทำการวันพฤหัส ห้ามวางลัคนาดวงฤกษ์ไว้ในราศีมังกร ทำการในวันศุกร์ ห้ามวางลัคนาดวงฤกษ์ไว้ในราศีกุมภ์ ทำการในวันเสาร์ ห้ามวางลัคนาดวงฤกษ์ไว้ในราศีเมถุนและราศีกันย์
5. ห้ามวางลัคนาดวงฤกษ์ในราศีกาลกิณีของเจ้าการ
ข้อนี้คล้ายข้อ 4. คือถ้าเจ้าการผู้มาขอฤกษ์ทำการเกิดวันอาทิตย์ เราให้ฤกษ์ วางลัคนาดวงฤกษ์ไว้ในราศีใดก็ได้ยกเว้นราศีที่มีดาวศุกร์ ๖ เป็นดาวเจ้าเรือน ซึ่งก็จะได้แก่ราศีตุลย์และพฤษภ 2 ราศี
6. ไม่ควรวางลัคนาดวงฤกษ์เกาะนวางค์กาลกิณีวันทำการ ฯ
นวางค์กาลกิณ๊วันทำการคือ ถ้าเราทำการวันเสาร์ ดาวพุธ ๔ จะเป็นกาลกิณี ดังนั้น นวางค์ที่มีดาวพุธ ๔ ครอบครองเป็นดาวเจ้านวางค์ เป็นนวางค์กาลกิณีหมด ห้ามวางลัคนาฤกษ์เกาะนวางค์พุธ ๔ ไม่ว่าในราศีอะไร รวมถึงนวางค์ที่เป็นกาลกิณีวันเกิดด้วย เช่น เจ้าการเกิดวันเสาร์ นวางค์พุธ ๔ ก็จะเป็นนวางค์กาลกิณีวันเกิดของเจ้าการ
7. ไม่ควรวางลัคนาดวงฤกษ์ทำการให้พฤหัสบดี ๕ จันทร์ ๒ และอาทิตย์ ๑ เป็นอริ มรณะ วินาสน์
ในดวง 10 ลัคนา อาทิตย์ ๑ เป็นอริ มรณะ หรือวินาสน์ลัคนาดวงฤกษ์ไม่มี เพราะ อาทิตย์ ๑ คือลัคนา แต่เมื่อทำดวงฤกษ์ออกมาแล้ว ดาวในดวงฤกษ์ ต้องสัมพันธ์ดีกับอาทิตย์ โดยเฉพาะจันทร์ ๒ และ พฤหัสบดี ๕ ปกติดาวจันทร์ ๒ เป็นดาวโชคลาภที่เด่นมากในแต่ละวันเพราะโลกเราอยู่ใกล้มาก พฤหัสบพี ๕ ถ้าไม่เป็นกาลกิณีจร เป็นดาวที่ให้คุณมากที่สุดในรอบปี ดังนั้น 2 ดาวนี้เสียไม่ได้
8. ห้ามวางลัคนาดวงฤกษ์ให้เสาร์ ๗ หรือราหู ๘ จรทับหรือเล็งลัคนาดวงฤกษ์
อย่าลืมว่าดวงฤกษ์ก็เหมือนดวงคน ถ้ายามใด เสาร์ ๗ หรือราหู ๘ จรมาทับหรือเล็งย่อมประสบกับความยุ่งยากหลายประการ ดวงฤกษ์ทำการ เป็นดวงของกิจการที่จะทำ และกำลังจะเริ่มต้น เหมือนเด็กแรกเกิด ที่ยังไม่มีภูมิต้านทานโรคมากนัก ต้องคอยดูแลอย่างดีเยี่ยมบุตรหลานจึงจะเติบโตอย่างสมบูรณ์แข็งแรง ดังนั้นดวงฤกษ์ทำการถ้าโดนเสาร์ ๗ หรือราหู ๘ เข้ามาทำลายเสียตั้งแต่เริ่มต้นกิจการ สามารถทำให้กิจการนั้นประสบกับความล้มเหลว จึงต้องระวังกันอย่างยิ่งยวด เพราะผมเคยเห็นตัวอย่างมากมาย
9. ไม่ควรวางลัคนาดวงฤกษ์ทำการให้พฤหัสบดี ๕ จรอยู่ในเรือนอริมรณะวินาสน์