คอลัมภ์ : ใช้บุญ - เรียกทรัพย์
โดย อ.รุ่งนภา

ตอนที่ 7 ...... ประเพณีลอยกระทง

                        สวัสดีค่ะ ท่านผู้อ่าน” คู่มือซื้อหวยรัฐ” ที่เคารพรักทุกท่าน พบกับ อ.โรส “รุ่งนภาพยากรณ์” กับคอลัมน์ "ใช้บุญ-เรียกทรัพย์" เช่นเคยค่ะ
                        
...เป็นห่วงทุกท่านที่ประสบอุทกภัย น้ำท่วมในปีนี้คงจะทำให้หลายท่านหลายจังหวัดที่ประสบ อุทกภัยนั้นสิ้นเนื้อประดาตัวไปตามๆกัน บางครอบครัวก็ถึงแก่ชีวิต หลายครอบครัวตกระกำลำบาก ขอให้เข้มแข็งนะคะ คนเราเกิดมาก็ต้องสู้..หากไม่สู้เราก็จะอยู่ไม่ได้ ต้องทำตัวเหมือนต้นหญ้า..ที่แม้น้ำจะท่วม มีสัตว์ ช้างม้าวัวควายมากัดกิน แม้ไฟจะไหม้ หรือมีคนมาขุดรากถอนโคนเพื่อหวังจะให้สูญพันธุ์ไป แต่หญ้าก็จะขึ้นมาใหม่เสมอ ฆ่าเท่าไหร่ก็ไม่ตาย ตายแล้วเกิดใหม่ เราต้องเป็นเช่นต้นหญ้าและ เข้มแข็งไว้..สู้ให้สุดใจเลยนะคะ ด้วยความเป็นห่วงจากใจจริงของผู้เขียนค่ะ

                        ..ใกล้ถึงเทศกาลวันลอยกระทงแล้ว …เรามาเปลี่ยนความทุกข์ให้เป็นพลัง ด้วยการไปลอยกระทงกัน ดีกว่า ... แต่ก่อนที่จะไปลอยกระทงกันนั้น เรามาทำความรู้จักประเพณีลอยกระทงให้ถ่องแท้กันก่อนดีกว่าค่ะ จะได้เข้าใจถึงจุดมุ่งหมายของประเพณีอย่างแท้จริง

                        กำหนดวันลอยกระทง
                        วันลอยกระทงจะตรงกับ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติไทย และหากเป็นปฏิทินสุริยคติจะอยู่ในช่วงของเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเดือน 12 นี้เป็นช่วงต้นฤดูหนาว จะมีอากาศที่เย็นสบาย บางจังหวัดอาจจะมีอากาศที่หนาวเย็นด้วย เพราะอยู่ในฤดูปลายฝนต้นหนาว เป็นฤดูน้ำหลาก จะมีน้ำขึ้นเต็มฝั่ง ทำให้มองเห็นสายน้ำอย่างชัดเจน อีกทั้งวันขึ้น 15 ค่ำ เป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวง ท้องฟ้าที่ปราศจากเมฆฝน ทำให้สามารถมองเห็นแม่น้ำที่มีแสงจันทร์ส่องกระทบลงมา เป็นภาพที่งดงามและน่าชมยิ่งนัก

                        ประวัติความเป็นมาของวันลอยกระทง
                        ประเพณีลอยกระทงนั้น ไม่มีหลักฐานระบุแน่ชัดว่าเริ่มตั้งแต่เมื่อใด แต่สำหรับประเทศไทยประเณีนี้ ได้สืบต่อกันมายาวนานตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง เรียกประเพณีลอยกระทงนี้ว่า "พิธีจองเปรียญ" หรือ "การลอยพระประทีป" และมีหลักฐานจากศิลาจารึกหลักที่ 1 กล่าวถึงงานเผาเทียน เล่นไฟว่าเป็นงานรื่นเริงที่ใหญ่ที่สุดของกรุงสุโขทัย ทำให้เชื่อกันว่างานดังกล่าวน่าจะเป็นงานลอยกระทง อย่างแน่นอน

                        ประเพณีลอยกระทงในประเทศไทย ซึ่งตรงกับวันเพ็ญ เดือน 12 เริ่มในประเทศไทยขึ้นครั้งแรก ในสมัยกรุงสุโขทัย โดยมีนางนพมาศ หรือท้าวศรีจุฬารัตน์ พระสนมเอกแห่งพระร่วงเจ้า เป็นผู้ให้กำเนิด

                        ดังปรากฏในหนังสือนางนพมาศ ผู้เป็นพระสนมเอกของพระร่วงเจ้าว่า "ครั้นวันเพ็ญเดือน 12 ข้าน้อยได้กระทำโคมลอย คิดตกแต่งให้งามประหลาดกว่าโคมสนมกำนัลทั้งปวงจึงเลือกผกาเกสรสีต่างๆ มาประดับเป็นรูปกระมุทกลีบบานรับแสงจันทร์ มีขนาดเท่ากระแทะ ล้วนแต่พรรณดอกไม้ซ้อนสีสลับให้เป็น ลวดลาย..." เมื่อสมเด็จพระร่วงเจ้าได้เสด็จฯทางชลมารค ทอดพระเนตรกระทงของนางนพมาศก็ทรงพอพระราช หฤทัย จึงมีพระราชโองการฯให้จัดพิธีลอยกระทงเป็นประจำทุกปี ในคืนวันเพ็ญเดือนสิบสองพระราชพิธีนี้ จึงได้ถือปฏิบัติเป็นประจำจนกระทั่งบัดนี้

                         ในปัจจุบัน การลอยกระทงได้แพร่หลาย และเป็นที่นิยมไปอย่างกว้างขวาง โดยผู้ใหญ่มักจะเกณฑ์ เด็กๆ มาช่วยกันทำกระทงอย่างสวยงาม นำไปลอยในแม่น้ำ เพื่อขอขมาแก่พระแม่คงคา พร้อมทั้งอธิษฐาน ขอสิ่งดีๆ ให้แก่ตนเอง และคนรัก และครอบครัว

                         ในสมัยก่อนนั้น พิธีลอยกระทงจะเป็นการลอยโคม สันนิษฐานว่า พิธีลอยกระทงเป็นพิธีของพราหมณ์ จัดขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้า 3 องค์ คือ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม ต่อมาได้นำพระพุทธศาสนาเข้าไป เกี่ยวข้อง จึงให้มีการชักโคม เพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุ และลอยโคมเพื่อบูชารอยพระบาทของพระพุทธเจ้า

                        เหตุผลและความเชื่อของการลอยกระทง เกิดจากความเชื่อหลาย ๆ ประการของแต่ละท้องที่ต่างๆกัน ได้แก่

                        1. เพื่อขอขมาพระแม่คงคา และสำนึกในพระคุณของพระแม่คงคา แสดงความขอบคุณและ ความกตัญญูต่อพระแม่คงคาเพราะเราได้อาศัยน้ำทั้งดื่มกินและใช้ในการดำรงชีวิต และอีกประการหนึ่ง มนุษย์มักจะทิ้งสิ่งของและถ่ายสิ่งปฏิกูลลงไปในน้ำด้วย
                        2. เพื่อสักการะรอยพระพุทธบาทนัมมทานที ซึ่งประพุทธเจ้าทรงประทับรอยพระบาท ประดิษฐานไว้บนหาดทรายที่แม่น้ำนัมมทานที ในประเทศอินเดีย
                        3. เพื่อลอยทุกข์โศกโรคภัย และสิ่งไม่ดี คล้ายกับพิธีลอยบาปของพราหมณ์
                        4. เพื่อบูชาพระอุปคุต ชาวไทยภาคเหนือให้ความเคารพแก่พระอุปคุตอย่างสูง ซึ่งตามตำนานเล่าว่า เป็นพระมหาเถระรูปหนึ่งที่มีอิทธิฤทธิ์มากสามารถปราบพญามารได้

                        ประเพณีลอยกระทงในแต่ละภาคตลอดจนถึงประเทศใกล้เคียงคือ พม่า กัมพูชา จีน อินเดีย อาจมีประเพณีลอยกระทงแตกต่างกัน และด้วยเหตุผลต่างๆ กัน

                        
ท่านสามารถติดตามผลงานของ อ.โรส ได้ที่ :

          ***รายการ “ เปิดดาว๙ทันดวง” ทาง SMMTV ทุกวันพฤหัส
เวลาใหม่ 12.40 -14.30 น.

          ***หนังสือโหรามหาเวทย์ คอลัมน์ “ ดวงพม่า โดย แม้นเมือง (รุ่งนภาพยากรณ์)

                         หรือ รับบริการพยากรณ์ดวงชะตาฯ ให้คำปรึกษา –แก้ปัญหาชีวิต , ผูกดวงคู่ดูสมพงศ์, ตั้งชื่อ-เปลี่ยนชื่อ , ให้ฤกษ์ฯ , (ด้วยดวงพม่า+ดวง10ลัคนา)กับ อ.โรส ได้ที่ ร้าน “รุ่งนภาพยากรณ์”

                        
ในห้างยูเนี่ยนมอลล์ ลาดพร้าว 1 ชั้น B (ใต้ดิน) อยู่ ในโซนพระเครื่องฯ เปิดทุกวัน ตั้งแต่ 11.30 - 19.00 น. หรือสอบถามได้ที่โทร. 089-120-5288 (บูชาครูดวงละ 500 บ.)

          ***แต่ขอบอกก่อนว่าต้องจองคิวล่วงหน้าเพราะ อ.โรส งานเยอะ จะหาตัวยาก และคิวแน่นหน่อยนะคะ***


ขอให้โชคดี....ร่ำรวยทุกท่าน

พบกันใหม่ตอนหน้า สวัสดีค่ะ

 

 

 

 


Web Counter