รายงานเรื่อง
พระพุทธศาสนา

เสนอ
อาจารย์อนุชิต วัฒนาพร

จัดทำโดย
นายสายัณห์ โอบอ้อม

ปีการศึกษา 2551
มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย


คำนำ
เอกสารฉบับนี้ได้ทำการรวบรวมเนื้อหาความรู้เกี่ยวกับเรื่อง พระพุทธศาสนา เพื่อใช้ประกอบการศึกษาค้นคว้าสำหรับผู้ที่สนใจ ซึ่งทางผู้จัดทำหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเอกสารฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ศึกษาอย่างสูงสุดหาก มีความผิดพลาดประการใด ผู้จัดทำยินดีรับคำแนะนำ และขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย

 

ประวัติพุทธศาสนา

          ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประเภท อเทวะนิยม และเป็นศาสนาที่มีผู้นับถือมากศาสนาหนึ่งของโลก รองจาก ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม และ ศาสนาฮินดู ประวัติความเป็นมาของศาสนาพุทธเริ่มตั้งแต่สมัยพุทธกาล ผู้ประกาศศาสนาและเป็นศาสดาของศาสนาพุทธคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้เมื่อวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนวิสาขะหรือเดือน 6 ณ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ ประเทศอินเดีย 45 ปี ก่อนพุทธศักราช ปัจจุบันสถานที่นี้ เรียกว่า พุทธคยา อยู่ห่างจากเมืองคยาประมาณ 11 กิโลเมตร ประวัติความเป็นมาของพุทธศาสนาหลังจากการประกาศศาสนา เริ่มจากการแพร่หลายไปทั่วอินเดีย หลังพุทธปรินิพพาน 100 ปี จึงแตกเป็นนิกายย่อย โดยนิกายที่สำคัญคือ เถรวาทและมหายาน

          นิกายมหายานได้แพร่หลายไปทั่วเอเชียกลาง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันออก เมื่อศาสนาพุทธในอินเดียเสื่อมลง พุทธศาสนามหายานในเอเชียกลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เสื่อม ตามไปด้วย ยังคงเหลือในจีน ทิเบต ญี่ปุ่น เวียดนาม ส่วนนิกายเถรวาทได้เฟื่องฟูขึ้นอีกครั้งในศรีลังกา และแพร่หลายไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พุทธศาสนาได้แพร่หลายไปยังโลกตะวันตกตั้งแต่ครั้งโบราณ แต่ชาวตะวันตกหันมาสนใจพุทธศาสนามากขึ้นในยุคจักรวรรดินิยมและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

 

พระพุทธศาสนาในประเทศไทย

          ในพุทธศตวรรษที่ ๓ พระเจ้าอโศกมหาราชแห่งราชวงศ์เมารยะ ซึ่งตั้งราชธานีอยู่ที่กรุงปาฏลีบุตรแคว้นมคธ ในอินเดีย ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามากจึงโปรดให้ส่งธรรมทูต อัญเชิญพระพุทธศาสนาจาริกเผยแผ่ไป ทั่วทิศานุทิศ ทั้งในอินเดียและประเทศอื่นๆ และเชื่อกันในหมู่นักประวัติศาสตร์ว่าพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท คือแบบที่เรานับถือในปัจจุบัน ได้แพร่หลายเข้ามาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิตั้งแต่สมัยนั้น ชาวอินเดียสมัยก่อนพุทธกาล เคยไปมาค้าขายติดต่อกับสุวรรณภูมินี้อยู่เสมอ ชาวสุวรรณภูมิจึงไม่รังเกียจพระพุทธศาสนาที่ชาวอินเดียนำมาเผยแผ่ ส่วนสุวรรณภูมินี้เข้าใจว่าน่าจะได้แก่บริเวณตั้งแต่ตอนใต้ของพม่าปัจจุบันนี้ (ซึ่งสมัยต่อมา เป็นอาณาจักรมอญ) เลยตลอดลงมาถึงภาคกลางของประเทศไทย มีศูนย์กลางที่สำคัญอยู่ที่จังหวัดนครปฐมซึ่ง มีพวกมอญและละว้า เป็นคนพื้นเมือง เนื่องด้วยบริเวณจังหวัดดังกล่าวปรากฏซากโบราณสถานมากมายล้วน แต่ใหญ่โต สร้างตามคติเก่า ถึงครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชก็มี เช่น พระสถูปพระปฐมเจดีย์องค์เดิมซึ่งอยู่ภายใน พระสถูปใหญ่ที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ตามรูปเดิมสร้างเป็นทรงโอคว่ำอย่างพระสถูปสัญจิในอินเดีย เป็นหลักฐานว่า พระพุทธศาสนาได้มาตั้งมั่นลง ณ ภาคกลางแห่งประเทศไทย แล้วเจริญงอกงามพัฒนาตลอดมาและได้พัฒนารุ่ง เรืองแพร่หลายทั่วไปในแหลม อินโดจีน ยกเว้นดินแดนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของคาบสมุทรนี้ซึ่งเป็นดิน แดนเวียดนามตอนเหนือ

          ในราวพุทธศตวรรษที่ ๖ ทางประเทศอินเดีย พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานได้เจริญขึ้น พุทธมามกะชาว อินเดียได้นำลัทธิมหายานออกมาสั่งสอนแพร่หลายในคาบสมุทรแห่งนี้ โดยเดินทางมาทางบกผ่านแคว้นแบงกอล เข้ามาทางพม่าตอนเหนือก็มี เดินทางมาทางทะเลขึ้นที่แหลมมลายู สุมาตรา และแล่นเรืออ้อมอ่าวเข้ามา ทางประเทศกัมพูชาในปัจจุบันก็มี ในระหว่างนั้นได้เกิดมีอาณาจักรฟูนันคือบริเวณดินแดนกัมพูชาในปัจจุบันและเลย เข้ามาในประเทศไทยตอนกลางและถึงภาคอีสานด้วย ปรากฏว่าประชาชนชาวฟูนันนับถือพระพุทธศาสนาทั้ง ฝ่ายเถรวาทและมหายาน จนถึงกับมีสมณทูตชาวฟูนันเดินทางไปแปลพระคัมภีร์ในประเทศจีน ถึงศตวรรษที่ ๑๑ อาณาจักรฟูนันก็เสื่อมโทรมไป ด้วยถูกอาณาจักรเจนละซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นฟูนันมาก่อนแย่งอำนาจ พวกเจนละนับถือศาสนาพราหมณ์ ฉะนั้นพระพุทธศาสนาจึงชะงักความเจริญระยะหนึ่ง

          ในยุคพุทธศตวรรษที่ ๑๑ ขณะที่อิทธิพลของฟูนันสั่นคลอนก็ปรากฏว่าพวกมอญในลุ่มแม่น้ำ เจ้าพระยาถือโอกาสประกาศอิสรภาพตั้งเป็นอาณาจักรทวาราวดี แล้วเจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็วทั้งในด้านศิลปะ และการพระศาสนา โดยรักษาจารีตของพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ซึ่งรับมาแต่ครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชไว้ อย่างเคร่งครัด ศูนย์กลางของทวาราวดีก็คงอยู่ที่นครปฐมนั่นเอง ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ปรากฏว่าอานุภาพ ของทวาราวดีได้ขยับขยายเหนือขึ้นไปจนถึงลพบุรีและได้แผ่ขึ้นไป จนถึงภาคเหนือของประเทศไทยเป็นเหตุหนึ่ ที่พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทจากทวาราวดีได้ไปตั้งมั่นทางภาคเหนือ ตกราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ อาณาจักรเจน ละ ได้เปลี่ยนเป็นประเทศเขมรโบราณ อิทธิพลของเขมรโบราณได้แผ่ครอบงำแทนที่อาณาจักรทวาราวดี
ราวพระพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ในสมัยที่อาณาจักรทวาราวดีกำลังรุ่งเรืองอยู่นั้นปรากฏว่าทางภาคใต้ของ ประเทศไทยได้เกิดอาณาจักรศรีวิชัยขึ้นที่แหลมมลายู มีอาณาเขตทางเหนือติดกับอาณาจักรทวาราวดี เดิมพล เมืองในอาณาจักรศรีวิชัยนับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายสาวกยาน ต่อมาราชวงศ์ปาละแห่งมคธอินเดียตอนใต้มีอำนาจขึ้น กษัตริย์ราชวงศ์นี้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาลัทธิมหายานโดยเฉพาะคือนิกายมนตรยาน ราชวงศ์ไศเลนทระแห่ง อาณาจักรศรีวิชัยซึ่ง ณ บัดนั้นได้แผ่อำนาจราชศักดิ์ครอบงำทั่วคาบสมุทรทะเลใต้และแหลมมลายูแล้วได้มี สัมพันธไมตรีกับราชสำนักปาละ จึงพลอยได้รับลัทธิมหายานนิกายมนตรยานเข้ามานับถือด้วย ลัทธิมหายานได้เป็น ศาสนาประจำของจักรวรรดิศรีวิชัยซึ่งเป็นจักรวรรดิมลายูตลอดระยะกาลแห่ง พ.ศ. ๑๒๐๐-๑๗๐๐ ปีเศษ

          ทางตอนเหนือของมลายูที่ในขณะนี้คือนครศรีธรรมราช ซึ่งมีชื่อเรียกในยุคพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ว่าเมืองตามพรลิงค์ เป็นประเทศราชของจักรวรรดิ์ศรีวิชัย นอกจากนี้อาณาจักรศรีวิชัย ยังเป็นศูนย์กลาง แห่งการศึกษาพระปริยัติ ธรรมที่โด่งดัง จนถึงสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ตามเรื่องราวที่ปรากฏในตำนานว่า อิทธิพลศรีวิชัยได้ขยายรุกขึ้น มาถึงประเทศกัมพูชาและบรรดาประเทศราชของเขมรในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ๒ คราว เมื่อกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๓ คราวหนึ่ง และเมื่อกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๕ อีกคราวหนึ่ง พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ ปรากฏว่าน่าจะมีเชื้อสายสืบ มาจากพวกศรีวิชัยประเทศกัมพูชาและประเทศไทยจึงได้รับนับถือลัทธิมหายาน ตามแบบอย่างศรีวิชัยอีกใน ระยะนี้ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๓ เป็นต้นมา

          ในยุคที่จักรวรรดิเขมรมีอำนาจครอบงำประเทศไทยเราเรียกว่ายุคลพบุรี มีระยะเวลาราว พ.ศ. ๑๕๐๐- ๑๘๐๐ ปี กษัตริย์เขมรบางพระองค์ก็เป็นพุทธมามกะ บางพระองค์ก็เป็นพราหมณมามกะ แต่พระพุทธศาสนาซึ่งแพร่หลาย อยู่ในสมัยลพบุรีนี้ ปรากฏว่ามีทั้งลัทธิฝ่ายเถรวาทและลัทธิฝ่ายมหายาน แต่ลัทธิมหายานนิกายมนตรยานได้เจริญ งอกงามขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งในประเทศกัมพูชาเองและในประเทศไทยตั้งแต่ตอนกลางและอิสานบางส่วนลงไป สถานที่สำคัญเกี่ยวกับลัทธิมหายานนิกายมนตรยาน เช่น ปราสาทหินพิมาย และพระปรางค์สามยอดที่ลพบุรี เป็นต้น
ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ชาวไทยได้ตั้งอาณาจักรเป็นปึกแผ่นขึ้นในลานนาภาคเหนือและพายัพของ ประเทศไทย ปัจจุบันนี้ พระพุทธศาสนาที่ชาวไทยในขณะนั้นนับถือเรียกได้ว่านับถือรวม ๆ กันไปทั้งเถรวาทแบบมอญกับลัทธิ มหายานแบบเขมร แต่อิทธิพลของลัทธิเถรวาทมีสูงกว่าลัทธิมหายานมาก ครั้นตกราวพุทธศตวรรษ ที่ ๑๖

          ทางประเทศพม่าพระเจ้าอโนรธาได้เป็นใหญ่ครองพุกาม ขณะนั้นพวกพม่านับถือลัทธิมหายานนิกาย มนตรยานมากกว่าเถรวาท รวมทั้งได้เอาลัทธิตันตระของฮินดูเข้ามาปะปนมาก เมื่อพระเจ้าอโนรธา ตีได้อาณาจักรมอญซึ่งเป็นอู่ความเจริญของพระพุทธศาสนาลัทธิเถรวาท ได้ทรงรับเป็นศาสนูปถัมภก ฟื้นฟูพระพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทให้รุ่งเรืองขึ้น โดยมีเมืองพุกามเป็นศูนย์กลาง เพราะฉะนั้นในตอนนี้พม่าจึง เป็นแห่งสำคัญ ของความพัฒนาแห่งพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ซึ่งได้ขยายเข้ามาในประเทศไทยในเวลาต่อมา ด้วยดังปรากฏโบราณสถานพระเจดีย์เจ็ดยอดเมืองเชียงใหม่ ซึ่งสร้างถ่ายแบบจากพระเจดีย์มหาโพธิเมืองพุกาม

          ประเทศลังกาหรือสิงหลนับถือพระพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทสืบมาแต่ครั้งพระเจ้าอโศกมหาราช เหมือนกับทาง สุวรรณภูมิ ครั้นตกราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ลังกาได้ทำสังคายนาพระธรรมวินัยซึ่งนับเป็นหนที่ ๗ ในตำนานสังคายนา ของฝ่ายเถรวาท กิตติศัพท์แพร่หลายมาถึงประเทศพม่ามีพระสงฆ์จากพุกามและมอญที่บวช ใหม่กับพระสงฆ์ลังกา กลับมาเมืองพุกามและเมืองมอญ ตั้งเป็นคณะลังกาวงศ์ขึ้นได้รับความนับถือเลื่อมใสจาก พระราชาและประชาชน จึงเจริญรุ่งเรืองขึ้น พระสงฆ์พวกเก่านับวันก็ค่อย ๆ หมดไปโดยพฤตินัย ครั้งนั้นมี คณาจารย์ในลังกาวงศ์นี้รูปหนึ่ง ชื่อพระราหุลเป็นชาวลังกาได้จาริกจากพุกามมาตั้งคณะลังกาวงศ์ขึ้นที่เมือง นครศรีธรรมราชซึ่งยังเรียกชื่อว่า เมืองตามพรลิงค์ มีกษัตริย์มลายูเชื้อสายศรีวิชัยปกครองอยู่ คณะสงฆ์ลังกาวงศ์ ที่เมืองนคร ฯ ก็เจริญขึ้นเหมือนที่พุกาม เป็นเหตุให้แพร่หลายสู่ประเทศไทยและกัมพูชาในกาลต่อมา พวกพุกาม ปกครองอาณาจักรทางลานนา อยู่ถึงปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ก็หมดอำนาจ อิทธิพลทั้งมอญและเขมรก็หมดฤทธิ์ ลงไปมากแล้ว มีคนไทยได้ตั้งตนเป็นเจ้าเมืองปกครองกันเอง นับตั้งแต่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ กษัตริย์เขมร องค์สุดท้ายที่มีอำนาจและทรงเป็นมหายานพุทธมามกะที่เคร่งครัดแล้ว ลัทธิมหายานพร้อมๆ กับอำนาจของ อาณาจักรเขมรก็เสื่อมโทรมลงทันที

 

ความหมายของศาสนา

          ราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายของ “ศาสนา” ว่า “ลัทธิความเชื่อของมนุษย์อันมีหลัก คือ แสดงกำเนิดและความสิ้นสุดของโลก เป็นต้น อันเป็นไปในฝ่ายปรมัถต์ประการหนึ่ง แสดงหลักธรรมเกี่ยวกับ บุญบาปอันเป็นไปในฝ่ายศีลธรรมประการหนึ่ง พร้อมทั้งลัทธิพิธีที่กระทำตามความเห็น หรือตามคำสั่งสอน ในความเชื่อนั้น ๆ”

          สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นพวงศ์) ทรงอธิบายว่า “ศาสนาคือ คำสั่งสอน ท่านผู้ใดเป็นต้นเดิม เป็นผู้บัญญัติสั่งสอน ก็เรียกว่าศาสนาของท่านผู้นั้น หรือท่านผู้บัญญัติสั่งสอนนั่นได้ นามพิเศษอย่างไร ก็เรียกชื่อนั้นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ศาสนาจึงมีมาก คำสอนก็ต่างกัน”

           สุชีพ ปุญญานุภาพ อธิบายความหมายคำว่า “ศาสนา” ไว้ว่า
                    ๑. ศาสนา คือ ที่รวมแห่งความเคารพนับถืออันสูงส่งของมนุษย์
                    ๒. ศาสนา คือ ที่พึ่งทางจิตใจ ซึ่งมนุษย์ส่วนมากย่อมเลือกยึดเหนี่ยวตามความพอใจ และความเหมาะสมแก่เหตุแวดล้อมของตน
                    ๓. ศาสนา คือ คำสั่งสอน อันว่าด้วยศีลธรรม และอุดมคติสูงสุดในชีวิตของบุคคล รวมทั้งแนวความเชื่อถือและแนวการปฏิบัติต่าง ๆ กันตามคติของแต่ละศาสนา (สุชีพ ปุญญานุภาพ, ๒๕๓๒:๙)

          จากนิยามดังกล่าวในข้างต้น จะเห็นว่านักคิดท่านต่าง ๆ ต่างให้นิยามของศาสนาไปตามโลกทัศน์ของ แต่ละบุคคล ซึ่งเมื่อเราพิจารณาคำนิยามเหล่านี้แล้วอาจจะเกิดปัญหาว่านิยามใดดีที่สุด หรือเหมาะสมที่สุด ทั้งนี้เนื่องจากนิยามของคำว่า “ศาสนา” ย่อมถูกต้องและเหมาะสมแตกต่างกันออกไปตามหลักความ เชื่อของศาสนานั้น ๆ

 

หลักการสำคัญของพระพุทธศาสนา

1. หลักจริยธรรม

          สอนให้ประพฤติตามหลักสัจธรรมที่เป็น อกาลิโก คือเราสามารถที่จะนำหลักธรรมของ พระพุทธศาสนามา ปฏิบัติได้โดยไม่จำกัดกาลเวลาในการปฏิบัติ สอนให้อยู่ในสังคมด้วยความเมตตา มากกว่าจะแสวงหาผลประโยชน์ ส่วนตน , มุ่งสอนให้เกิดความพอดี หรือที่เรียกว่า "มัชฌิมาปฏิปทา" การเดินทางสายกลาง

          หลักจริยธรรมของพระพุทธศาสนา สามารถนำมาใช้เป็นหลักการดำเนินชีวิต
                    โดยมีหลักการครองเรือน ( สมชีวธรรม ) การมีธรรมเครื่องเป็นอยู่ที่เสมอภาคกัน
                    1. สมสัทธา มีความเชื่อเสมอกัน , มีทัศนคติตรงกัน , มีความเลื่อมใสในศาสนาเสมอกัน
                    2. สมสีลา มีศีลเสมอกัน , มีระเบียบวินัย , มีใจบุญกุศลเสมอกัน
                    3. สมจาคะ เป็นผู้มีใจเสียสละ , มีใจบุญกุศลเท่ากัน
                    4. สมปัญญา มีปัญญาความรู้เรื่องคุณธรรม , มีการศึกษาเท่ากัน
          จริยธรรมสำหรับบิดามารดา
                    1. ห้ามลูกกระทำความชั่ว
                    2. สอนให้กระทำความดี
                    3. ให้การศึกษาศิลปวิทยา ( พร้อมทั้งส่งเสริมให้ลูกได้ศึกษาหาความรู้ให้ได้มากที่สุด )
                    4. มอบสมบัติให้ปกครอง
                    5. หาคู่ครองที่ดีให้ ( โดยมีการแนะนำเรื่องการเลือกคู่ครองที่ดีให้ )
          จริยธรรมสำหรับบุตร – ธิดา
                    1. เลี้ยงดูตอบแทนพ่อแม่
                    2. ช่วยเหลือกิจการงานของท่าน
                    3. ดำรงวงศ์สกุลให้เจริญก้าวหน้า
                    4. ทำตนให้เป็นผู้ควรได้รับทรัพย์มรดก
                    5. ทำบุญอุทิศไปให้ท่านเมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว
          จริยธรรมสำหรับนักเรียน – นักศึกษา (หัวใจนักปราชญ์)
                    1. สุ – สุตตะ ฟังอย่างตั้งใจ
                    2. จิ – จิตตะ คิดตามไตร่ตรอง
                    3. ปุ – ปุจฉา ให้ถามหากสงสัย
                    4. ลิ – ลิขิต จดไว้อ่านดูกันลืม
          อิทธิบาท 4 ธรรมที่จะก่อให้เกิดความสำเร็จในการดำเนินกิจการต่าง ๆ
                    1. ฉันทะ มีความพอใจรักใคร่ในสิ่งที่กระทำ
                    2. วิริยะ มีความเพียรพยายามในการประกอบสิ่งนั้น
                    3. จิตตะ เอาใจใส่ในสิ่งที่กระทำอยู่
                    4. วิมังสา หมั่นไตร่ตรองพิจารณาในการกระทำ
          หลักจริยธรรมสำหรับปลูกฝังตัวเอง
                    1. การพึ่งตนเอง ขยันหมั่นเพียร และมีความรับผิดชอบ
                    2. การประหยัด รู้จักอดออม
                    3. การมีระเบียบวินัย และเคารพ กฎหมาย
                    4. การปฏิบัติตามคุณธรรมของศาสนา
                    5. ความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์
          คุณธรรม 4 ประการ ตามพระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน
                    1. รักษาความสัจ
                    2. การรู้จักข่มใจตนเอง
                    3. การอดทด
                    4. การรู้จักละวางความชั่ว

2. หลักคุณธรรม

          หลักธรรมที่เป็นคุณธรรมของพระพุทธศาสนามีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ตัวคน เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่สอนให้คนเป็นคนดี ซึ่งประกอบด้วยหลักคำสอน ๓ ประการ คือ การเว้นจากการ ทำชั่ว การทำความดี และการทำจิตใจของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใส หมดจดจากกิเลส

          ๑. การเว้นจากการทำชั่ว คือการเว้นจากการกระทำบาป เว้นจากการประพฤติผิดและทุจริต การเว้นกระทำชั้ว อาจจะแยกออกได้เป็นการเว้นจากการทำชั่วทางกาย ทางวาจาและทางใจ
          ๑.๑ การละเว้นการกระทำชั่วทางกาย ประกอบด้วยการละเว้น ๓ ประการ คือ
                    ๑) การไม่ฆ่าสัตว์
                    ๒) การไม่ลักทรัพย์หรือฉ้อโกง
                    ๓) การไม่ประพฤติผิดในกาม
          ๑.๒ การละเว้นการกระทำชั่วทางวาจา ประกอบด้วยการละเว้น ๔ ประการ คือ
                    ๑) การไม่พูดเท็จ
                    ๒) การไม่พูดส่อเสียด ไม่ยุยงให้แตกความสามัคคี
                    ๓) การไม่พูดคำหยาบ
                    ๔) การไม่พูดเพ้อเจ้อ
          ๑.๓ การละเว้นการกระทำชั่วทางใจ ประกอบด้วยการละเว้น ๓ ประการ คือ
                    ๑) การไม่คิดอยากได้ของผู้อื่น
                    ๒) การไม่คิดพยายามปองร้าย
                    ๓) การไม่คิดกระทำผิดทำนองคลองธรรม
          ๒. การกระทำความดี คือ กระทำแต่กุศล ประพฤติแต่ความสุจริตด้วยกาย วาจา และใจ เป็นการละเว้นจาก การทำชั่วทางกาย วาจา ใจ โดยการทำให้บริสุทธิ์หมดจากกิเลสโดยมีบุญกิริยาวัตถุ คือ สิ่งเป็นที่ตั้งแห่งการ บำเพ็ญบุญ ๓ ประการ
          ๒.๑ ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน คือ การบริจาคทานด้วยความบริสุทธิ์ใจ การทำทานตามแนวของ พระพุทธศาสนา อาจทำได้ดังนี้
                    ๑) อาปรทาน คือ การบริจาคทรัพย์สินให้เป็นปรสพประโยชน์ และสาธารณประโยชน์
                    ๒) ธรรมทาน คือ การให้ความดีที่จะนำความสุขความเจริญ อันได้แก่ การแนะนำ เผยแผ่คำสอนของ พระพุทธเจ้าแก่ผู้อื่น
                    ๓) อภัยทาน คือ การให้อภัยผู้อื่นที่มาล่วงเกินเรา
          ๒.๒ ศีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล คือ การปกติทางกาย และปกติทางวาจา การปกติทางกายคือ การไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ และไม่ประพฤติผิดในกาม ส่วนความปกติ ทางวาจาก็คือการไม่พูดเท็จ ตั้งใจสำรวม ประเภทของศีลประกอบด้วย ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ และศีล ๒๒๗ ข้อ
          ๒.๓ ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา คือการเจริญภาวนาเพื่อความบริสุทธิ์ของใจ ประกอบด้วยเจริญ สมถกรรมฐานการทำจิตใจให้สงบ และวิปัสสนากรรมฐานที่ทำให้เกิดปัญญาที่เต็มรูปแบบความเป็นจริง เช่น ความไม่เที่ยง (อนิจจัง) และความทุกข์ (ทุกขัง) เป็นต้น
          ๓. การทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ผ่องใส หมดจดจากกิเลส คือปราศจากความโลภ ความโกรธ และความหลง มีแต่ความร่าเริง และมีสุขภาพจิตดี การมีจิตใจที่บริสุทธิ์ ผ่องใส และหมดจดจากกิเลสได้จะต้องเป็นผู้ที่ตั้งมั่น อยู่ในคุณธรรม ๔ ประการ หรือที่เรารู้จักกันว่า “พรหมวิหาร ๔” คือ
          ๓.๑ การมีจิตที่เมตตา คือมีความรักใคร่ ปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข การเจริญเมตตาอยู่บ่อย ๆ ทำให้มีชีวิตอยู่อย่างไม่มีภัย มีแต่ความสามัคคี ละอกุศลกรรมทั้งหลาย
          ๓.๒ การมีจิตที่กรุณา คือมีความสงสารคิดช่วยเหลือให้ผู้อื่นพ้นทุกข์
          ๓.๓ การมีจิตที่มุทิตา คือมีความพลอยยินดีเมื่อเห็นหรือรู้ว่าผู้อื่นได้ดี มีความสุข หรือประสบความสำเร็จ โดยปราศจากความริษยา
          ๓.๔ การมีจิตที่มีอุเบกขา คือการวางเฉยไม่ดีใจ ไม่เสียใจ มีใจเป็นกลาง เมื่อผู้อื่นถึงความวิบัติ เพราะในบางเรื่องเป็นเรื่องที่สุดวิสัยที่จะช่วยเหลือผู้อื่นได้ก็จะต้องทำใจ
          การมีจิตใจที่บริสุทธิ์และหมดจดจากกิเลสโดยตั้งอยู่ในพรหมวิหาร ๔ ควรได้มีมโนสุจริต ๓ ประการ ประกอบด้วย
                    ๑) ไม่โลภอยากได้ของผู้อื่น
                    ๒) ไม่พยาบาทปองร้ายผู้อื่น
                    ๓) เห็นชอบตามทำนองคลองธรรม เห็นว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว


3. ศีลธรรม

          หลักศีลธรรมสำหรับชาวพุทธที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงประทานสั่งสอนไว้ มีมากมายหลายระดับ ทั้งที่เหมาะสมกับการดำรงชีวิตประจำวัน และระดับที่สูงขึ้นไป หากพุทธศาสนิกชนทุกคนล้วนแต่ตั้งมั่นอยู่ใน คำสั่งสอนของท่าน ย่อมบังเกิดความสงบสุขในการดำเนินชีวิต และในสังคมที่เราอาศัยอยู่อย่างแน่นอน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ล้วนแล้วแต่มาจากการที่ คนเราไม่ตั้งมั่นอยู่ในธรรมนั่นเอง ที่นำมาเสนอไว้ ณ ที่นี้ ก็เพื่อเป็นการทบทวนความจำที่เราได้เคยเล่าเรียนมา พินิจพิจารณาถึงความเป็นจริงในแต่ละข้อที่พระพุทธเจ้า ได้ทรงสอนไว้ และนำไปปฏิบัติด้วยอันเป็นจุดมุ่งหมาย

4. ปรมัตถธรรม

          ปรมัตถธรรม หมายถึง ธรรมที่มีเนื้อความอันประเสริฐ เพราะมีคุณลักษณะแน่นอน ไม่วิปริตผันแปร เป็นอารมณ์ของปัญญาอันสูงสุดและเป็นประธานในบัญญัติธรรมทั้งปวง
                     - ทุกข์ รวมความว่าถ้ายังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ก็ยังทุกข์อยู่
                     - สมุทัย ต้นเหตุของทุกข์ อยากเกิดอีก
                     - นิโรธ ก็คือ นิพพาน
                     - มรรค ทางเดินไปสู่ความพ้นทุกข์ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา

 

ศาสนสถาน

          ศาสนสถาน ใช้เป็นที่อยู่อาศัยของนักบวช การประกอบพิธีกรรมทางศาสนา จนถึงเป็นที่รวมองค์ประกอบหลักของศาสนา ทั้งหมดในศาสนสถาน ฐานะ ของศาสนสถานจึงเป็นสมบัติของศาสนา

          "วัด" คือ สถานที่ทางศาสนา ตามปกติแล้วจะมีเสนา สนะและอาคารถาวรวัตถุต่าง ๆ เป็นที่พำนักอาศัยศึกษา ปฏิบัติ พระธรรมวินัย และประกอบศาสนกิจของพระภิกษุ สงฆ์ ตลอดจนเป็นที่บำเพ็ญกุศลต่าง ๆ นอกจากนี้วัดยัง เป็นศูนย์กลาง บริการทางการศึกษาและทางสังคม รวมทั้งเป็นแหล่งส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและประเพณี วัดทั้ง หลายมีฐานะทางกฎหมาย คือ เป็นนิติบุคคลเท่าเทียม กัน แต่ในทางพระวินัยมีฐานะแตกต่างกัน ดังนั้น ตาม มาตรา 31 แห่ง พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ได้ จำแนกวัดออกเป็น 2 ชนิด คือ สำนักสงฆ์ ...และ...วัดที่ได้ รับพระราชทานวิสุงคามสีมา

          "สำนักสงฆ์" หมายถึงวัดที่กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศตั้งวัด แล้วแต่ยังไม่ได้รับพระราชทาน วิสุงคามสีมา รวมถึงวัดที่ ได้รับพระบรมราชานุญาต ให้สร้างขึ้นตามความใน มาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ. ลักษณะปกครองสงฆ์ ร.ศ. 121 และวัด ที่สร้างขึ้นก่อน ร.ศ. 121 (พ.ศ. 2445) ซึ่งยังไม่ได้ รับพระราชทาน วิสุงคามสีมาด้วย นับว่าเป็นวัดที่สมบูรณ์ ทางกฎหมายแล้ว

           "วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา" หมายถึง... "อาราม" ตามที่ได้เคยบัญญัติไว้ในมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. ลักษณะปกครองสงฆ์ ร.ศ. 121 เป็นวัด ที่เลื่อนฐานะมาจากสำนักสงฆ์ โดยได้รับพระราชทาน วิสุงคามสีมา เพื่อประโยชน์ แก่สังฆกรรมตามพระธรรม วินัยสำหรับพระสงฆ์ นับว่าเป็นวัดที่สมบูรณ์ด้วยฐานะทั้ง ทางกฎหมาย และทางพระธรรมวินัย ทุกประการ

           "พระอารามหลวง" หมายถึง วัดที่พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระราชินี สมเด็จพระยุพราช ทรงสร้างและ ปฏิสังขรณ์ เป็นการส่วน พระองค์ พระราชทานเพื่อเป็นเกียรติยศแก่ผู้ต่ำศักดิ์ลงมา หรือ แก่วัดเอง มีอยู่จำนวนหนึ่ง ที่พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชบริพารผู้ใหญ่ ทรงสร้างขึ้น หรือ ทรงโปรดให้ปฏิสังขรณ์และสร้าง ขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระอารามหลวง รวมทั้งวัดที่ประชาชนสร้าง หรือ ปฏิสังขรณ์และทรงรับไว้เป็นพระอารามหลวง

 

ลักษณะเด่นของพระพุทธศาสนา

          “พุทธศาสนา” เป็นศาสนาที่เกิดขึ้นเพื่อปรับปรุง และแก้ไขสังคมอินเดียในยุคนั้นให้ดีขึ้น จากการกดขี่ของ พราหมณ์ จากการเหลื่อมล้ำทางสังคม จากการถือวรรณะจัด จากการนิยมบวงสรวงบูชายัญด้วยสัตว์เป็นจำนวนมาก จากการกดขี่สตรี พุทธศาสนาจึงเป็นเสมือนน้ำทิพย์ชโลมสังคมอินเดียโบราณให้ขาวสะอาดมากขึ้นกว่าเดิม คำสอนของพุทธศาสนาทำให้สังคมโดยทั่วไปสงบร่มเย็น ลักษณะพิเศษหลายประการที่แตกต่างจากศาสนาอื่นๆ ดังนี้

๑.เป็นศาสนาแห่งความรู้และความจริง
          
พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งความรู้ เพราะเป็นศาสนาแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธองค์เอง จากปัญญาของ พระองค์ และธรรมที่พระองค์ตรัสรู้คือ อริยสัจ ๔ ก็เป็นความจริงอย่างแท้จริง ทรงตรัสรู้โดยไม่มีใครสั่งสอน นักปราชญ์ทั้งหลายทั้งในอดีตและปัจจุบันจึงกล่าวยกย่องว่า เป็นศาสนาที่ประกาศความเป็นอิสระของมนุษย์ ให้ปรากฏแก่โลกยิ่งกว่าศาสนาใดๆ ที่มีมา

๒.เป็นศาสนาแห่งความอิสระเสรีภาพ
          
พุทธศาสนาแทบจะเป็นศาสนาเดียวที่ไม่ผูกติดกับผู้ดลบันดาลหรือพระผู้เป็นเจ้า ไม่ได้ผูกมัดตัวเองไว้กับ พระเจ้า เชื่อในความสามารถของมนุษย์ว่ามีศักยภาพเพียงพอ โดยไม่ต้องพึ่งพาอำนาจใดๆภายนอก เชื่อว่ามนุษย์ เองสามารถปลดเปลื้องความทุกข์ได้โดยไม่รอการดลบันดาล พุทธศาสนาไม่มีการบังคับให้คนศรัทธาหรือเชื่อ แต่ให้สามารถพิสูจน์ได้โดยตนเอง

๓.เป็นศาสนาอเทวะนิยม
          
นอกจากศาสนาเชนแล้ว พุทธศาสนาเป็นศาสนาเดียวที่ไม่เชื่อพระเจ้าเป็นผู้บันดาลทุกสิ่ง ผู้สร้างทุกสิ่ง แม้กระทั่งโลก เพราะเหตุว่าพุทธศาสนาไม่เชื่อในอำนาจการดลบันดาลของพระเจ้า จึงเรียกว่าศาสนาฝ่ายอเทวะนิยม คือ ศาสนาที่ไม่เชื่อเรื่องพระเจ้า

๔.เป็นศาสนาแห่งสันติภาพ
          
ในกระบวนการนักคิดของโลกศาสนา พุทธศาสนาได้รับการยกย่องจากทั่วโลกว่า เป็นศาสนาแห่งสันติภาพ อย่างแท้จริง เพราะไม่ปรากฏว่ามีสงครามเกิดขึ้นในนามของศาสนา หรือเผยแผ่ศาสนาโดยการบังคับผู้คนให้นับถือ ให้เสรีภาพในการพิจารณา ให้มีปัญญากำกับการศรัทธา ในขณะที่หลายศาสนากล่าวว่า ศาสนิกต้องมีศรัทธามาก่อน ปัญญาเสมอ และต้องมีความภักดีต่อพระเป็นเจ้าสูงสุดจะวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้

 

วิปัสสนา

          วิปัสสนาก็คือ การเอาสติเข้าไปตามดูตามสังเกต เข้าไปจดจ่อ เข้าไปใส่ใจ ต่อสภาวะลักษณะที่ปรากฏ ในขณะนั้น และต่อความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงและความเป็นไปต่าง ๆ ทั้งการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ เสื่อมไป ดับไปของรูปของนาม หรือของร่างกายของจิตใจ หรือของรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สะสมข้อมูลที่สังเกตได้นั้นมากขึ้นเรื่อย ๆ และนำข้อมูลที่ได้จากการตามดูตามสังเกตนั้น มาพินิจพิเคราะห์ พิจารณาโดยแยบคาย ให้เห็นว่ารูปนามนั้นเที่ยงหรือไม่เที่ยง เป็นสุขหรือทุกข์ หรือความสุขที่ได้มานั้นคุ้มกับ ความทุกข์ที่ต้องเผชิญหรือไม่ อยู่ในอำนาจหรือไม่ เป็นไปตามความปรารถนาหรือไม่ ควรค่าแก่การยึดมั่นหรือไม่ ควรหรือไม่ที่จะถือว่าเป็นเรา เป็นของของเรา เป็นตัวเป็นตนของเรา ( ถ้าจะถือว่าสิ่งใดเป็นเราแล้วสิ่งนั้นก็ควร จะอยู่ในอำนาจ และเป็นไปตามความปรารถนาของเราอย่างแท้จริง ) ทั้งนี้ก็เพื่อทำการศึกษา ให้เห็นธรรมชาต ิที่แท้จริงของรูปนามทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นรูปนามภายใน ภายนอก ในอดีต ปัจจุบัน อนาคต คือให้รู้แจ้งเห็นจริง อย่างชัดเจนด้วยปัญญาของตนเองอย่างทะลุปรุโปร่ง โดยไม่มีความเคลือบแคลงสงสัยใด ๆ และไม่ต้องอาศัย ความเชื่อผู้อื่นอีกต่อไป ( เพราะรู้ด้วยปัญญาของตนเองแล้ว ) จนกระทั่งเห็นแจ้งว่าภายในเป็นอย่างไรภายนอก ก็เป็นอย่างนั้น ปัจจุบันเป็นอย่างไรอดีตและอนาคตก็เป็นอย่างนั้น ไม่ว่ารูปนามใด ๆ ในเวลาไหน ๆ ก็เป็นอย่างนั้น

           ทั้งนี้ควรทำประกอบกันทั้งการตามดูตามสังเกต และการพิจารณาโดยแยบคาย ไม่ใช่ทำเพียงอย่างใด อย่างหนึ่ง เพราะการตามดูตามสังเกตแล้วไม่นำข้อมูลที่ได้นั้น มาพิจารณาโดยแยบคาย ก็จะไม่ได้ประโยชน์ จากข้อมูลนั้นอย่างเต็มที่ ส่วนการตั้งหน้าตั้งตาพิจารณาโดยแยบคาย โดยไม่มีข้อมูลจากการตามดูตามสังเกตอย่าง มากพอ การพิจารณานั้นก็อาจผิดพลาดได้ ดังนั้นจึงควรตามดูตามสังเกตไปเรื่อย ๆ แล้วนำข้อมูลนั้นมาพิจารณาโดย แยบคายเป็นระยะ ๆ สลับกันไป

           เมื่อพิจารณาอะไรไม่ออกแล้ว ก็แสดงว่าข้อมูลที่สังเกตได้มานั้นยังไม่มากพอที่จะพิจารณาต่อไป ก็พักการ พิจารณาเอาไว้ก่อนอย่าท้อใจเพราะเป็นธรรมดาของการปฏิบัติ ใช้สติตามดูตามสังเกตรูปนามกันต่อไป เมื่อข้อมูล มากขึ้นก็จะพิจารณาต่อไปได้เอง หรือบางครั้งเมื่อข้อมูลมากพอแล้ว แม้จะไม่ได้ตั้งใจพิจารณาจิตก็จะแล่นไปได้เอง คือถึงไม่ได้ตั้งใจพิจารณาก็เหมือนพิจารณา เมื่อเห็นธรรมชาติที่แท้จริงชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว ในที่สุดก็จะเกิด ความรู้สึกขึ้นมาจากส่วนลึกที่สุดของจิตใจของตนเอง เป็นความรู้สึกเบื่อหน่ายในรูปนามทั้งปวงอย่างแรงกล้า เมื่อเบื่อหน่ายก็จะเกิดความรู้สึกคลายความยึดมั่นถือมั่นในรูปนามทั้งปวงลงไป เมื่อคลายความยึดมั่นถือมั่นมากเท่าไร กิเลสทั้งหลายที่อยู่ในระดับความหยาบ / ความประณีตเดียวกันกับความยึดมั่นถือมั่นนั้น ก็จะถูกทำลายลงไปพร้อมกัน ซึ่งเป็นการทำลายที่ต้นตอของกิเลสนั้นโดยตรง จึงไม่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นมาได้อีกเลย และความรู้สึกนี้จะแผ่ซ่าน ไปทั่วทุกอณูของร่างกาย สำนวนในพระไตรปิฎกจะใช้คำว่า เมื่อเบื่อหน่ายก็จะคลายกำหนัด เมื่อคลายกำหนัดก็จะ หลุดพ้น

 

สมาธิ

          ความหมายของสมาธิ สามารถอธิบายได้ทั้งในเชิงลักษณะผลของสมาธิที่เกิดขึ้น และอธิบายในลักษณะในเชิง การปฏิบัติ
          
1. ความหมายในเชิงลักษณะผลของสมาธิ
          
สมาธิ คือ อาการที่ใจตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวอย่างต่อเนื่อง หรือ อาการที่ใจหยุดนิ่งแน่วแน่ สงบรวมเป็นหนึ่ง มีแต่ความบริสุทธิ์ผ่องใส สว่างไสวผุดขึ้นในใจ จนกระทั่งสามารถเห็นความบริสุทธิ์นั้นด้วยใจตนเอง
          
2.ความหมายในเชิงลักษณะการปฏิบัติสมาธิ
          
สมาธิ แปลว่า ความตั้งมั่นของจิต หรือภาวะที่จิตแน่วแน่ต่อสิ่งที่กำหนด หรือการที่จิตกำหนดแน่วแน่อยู่กับ สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ฟุ้งซ่าน

การฝึกสมาธิ (เริ่มต้น) อย่างง่ายๆ

          ก่อนที่เราจะฝึกสมาธินั้น ต้องหาความหมายของคำว่า "สมาธิ" ก่อนว่า สมาธิคืออะไร? สมาธิเกิดจากอะไร ?
สมาธิคือการที่มีจิตมุ่งอยู่ในอารมณ์ ๆ เดียว
          
สมาธินั้นมีการฝึกกันเรื่อยมา ตั้งแต่ครั้งโบราณกาล
สัมมาสมาธิ เป็นสมาธิที่ชี้นำให้เกิดปัญญาในการพิจารณาสภาวะที่จะเกิดขึ้นในธรรมชาติ พูดง่ายๆ คือในตัวเรา
          
เราจะรู้ได้ว่า....เราได้สมาธิจากอะไร ?
การที่จิตจะตั้งมั่นนั้นเกิดขึ้นจากการเจริญสติ
          
การเจริญสติ.....ก็คือการรู้ รู้ตัว รู้รอบ นี่เป็นบทสำคัญที่สุด เพราะอยู่ในพุทธศาสนา จึงสอนไว้ในเรื่อง มหาสติปัฏฐาน 4 ให้เรามีสติ รู้เรื่อง กาย เวทนา จิต ธรรม นี่เป็นเรื่องเบื้องต้น
          
เราต้องทำความรู้เนื้อรู้ตัวกับตัวเองก่อน โดยการเริ่มมาศึกษาตัวเอง โดยทำความรู้เนื้อรู้ตัว และทำสติให้เจริญเกี่ยวกับกาย เวทนา จิต ธรรม
          
เริ่มต้นจาก กาย เมื่อเราอยู่กับกาย ให้เริ่มต้นจากลมหายใจ ระลึกได้ รู้ได้ว่ามีลมหายใจอยู่
เพราะฉะนั้น.....วิธีแรกก็คือมีสติกำหนดอยู่ที่ลมหายใจ เป็นอนุสสติ 1 ใน 10 ที่สำคัญมาก
          
การกำหนดลมหายใจ ถือว่าเป็นกรรมฐานที่มีผลดีที่สุดใน 40 วิธี มีคุณมาก อันตรายที่เกิดขึ้นน้อยที่สุด อันตรายที่เกิดจากการวิปลาสน้อยมาก
          
การนั่งสมาธิ ไม่จำเป็นต้องมานั่งหลับหูหลับตา อยู่ที่ต้องมีสติกับอากัปกริยาทั้ง 4 ไม่ว่าจะ ยืน เดิน นั่ง นอน มีสติตามดูตามรู้ตลอด

นี่คือการเจริญสติ

          เมื่อสติตั้งมั่น สมาธิก็เกิด อย่างเช่น เวลาที่เราทำงาน เราทำงานด้วยความตั้งใจตลอด
ทำไปโดยที่ไม่ต้องสนใจคนรอบข้าง ใครเรียกก็แทบไม่ได้ยิน นั่นแหละสมาธิเกิดขึ้นแล้ว ไม่ใช่ว่าสมาธิต้องมานั่งหลับตา แยกตัวออกจากสังคม ไม่ใช่อย่างนั้น
นี่เป็นขั้นพื้นฐาน เป็นการทำควบคู่กับการใช้ชีวิตประจำวัน คือการกำกับสติตลอด
เมื่อเราทำอย่างนี้มากขึ้น ความละเอียดก็จะมีมากขึ้น สติมีมากขึ้น สมาธิก็จะมากขึ้นตามไปด้วย
          
ทุกวันนี้เราไม่ได้ทำตรงนี้ให้มากขึ้น เราต้องการให้เกิดสมาธิ เพื่อให้เกิดผล ตรงนี้มันเป็นผล มันไม่ถูก เหมือนเราปลูกต้นไม้ เรารดน้ำ ให้ปุ๋ย ส่วนจะออกผลหรือไม่ ไม่ต้องไปสนใจ ทำให้ดีที่สุด ตั้งใจ ทำด้วยความจริงใจ จับจด จับจ้อง แล้วผลมันจะเกิดขึ้นเอง ทั้งนี้ต้องทำด้วยความตั้งใจ พร้อมด้วยอิทธิบาท 4 คือ
          
ฉันทะ (ความพึงพอใจที่จะศึกษา)
          
วิริยะ (ความเพียร)
          
จิตตะ (ตั้งใจมั่น เอาจริงเอาจัง)
          
วิมังสา (พิจารณาใคร่ครวญอย่างรอบคอบ)

ประโยชน์ของการฝึกสมาธิ

          ๑. เราทำสมาธิเพื่อให้จิตของเราสงบเป็นสมาธิ เกิดความมั่นคง สามารถที่จะต้านทานต่ออารมณ์ที่มากระทบไม่ให้เกิดความหวั่นไหว
          ๒. เมื่อจิตของเราสงบเป็นสมาธิปราศจากอารมณ์ เราจะได้รู้สภาพความเป็นจริงของจิตของเราที่ไม่มีอารมณ์นั้นเป็นอย่างไร เมื่อมันออกมารับรู้อารมณ์แล้ว
          
เมื่อเรารู้ความเป็นจริงของจิตของเรา เมื่อจิตอยู่ว่างๆ ไม่มีอารมณ์ มันสบายหรือไม่ มีความสุขหรือไม่ รู้อารมณ์ที่เกิดขึ้น เราทุกข์หรือไม่ เราเดือดร้อนหรือไม่ ต้องอ่านจิตของเราก่อน ในขั้นตอนต่อไป เราสามารถที่จะทำจิตของเรานี้ให้ดำรงอยู่ในความอิสระ ไม่ตกอยู่ในอำนาจของสิ่งอื่นใด เมื่อเราได้ทำไปเรื่อยๆ ถ้าหากว่าเรายังมีความคิดว่า การทำสมาธิต้องมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือผู้วิเศษเข้ามาช่วยดลจิตให้ดำเนินเข้าไปสู่ ความสงบสุข เข้าไปสู่พระนิพพาน ก็เป็นการเข้าใจผิด และผิดหลักของพระพุทธศาสนา


คิดบวกชีวิตบวก

เวลาเจองานหนัก ให้บอกตัวเองว่า
นี่คือโอกาสในการเตรียมพร้อมสู่ความเป็นมืออาชีพ
เวลาเจอปัญหาซับซ้อน ให้บอกตัวเองว่า
นี่คือบทเรียนที่จะสร้างปัญญาได้อย่างวิเศษ
เวลาเจอความทุกข์หนัก ให้บอกตัวเองว่า
นี่คือแบบฝึกหัดที่จะช่วยให้เกิดทักษะในการดำเนินชีวิต
เวลาเจอนายจอมละเมียด ให้บอกตัวเองว่า
นี่คือการฝึกตนให้เป็นคนสมบูรณ์แบบ (Perfectionist)
เวลาเจอคำตำหนิ ให้บอกตัวเองว่า
นี่คือการชี้ขุมทรัพย์มหาสมบัติ
เวลาเจอคำนินทา ให้บอกตัวเองว่า
นี่คือการสะท้อนว่าเรายังคงเป็นคนที่มีความหมาย
เวลาเจอความผิดหวัง ให้บอกตัวเองว่า
นี่คือวิธีที่ธรรมชาติกำลังสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชีวิต
เวลาเจอความป่วยไข้ ให้บอกตัวเองว่า
นี่คือการเตือนให้เห็นคุณค่าของการรักษาสุขภาพให้ดี
เวลาเจอความพลัดพราก ให้บอกตัวเองว่า
นี่คือบทเรียนของการรู้จักหยัดยืนด้วยขาตัวเอง
เวลาเจอลูกหัวดื้อ ให้บอกตัวเองว่า
นี่คือโอกาสทองของการพิสูจน์ความเป็นพ่อแม่ที่แท้จริง
เวลาเจอแฟนทิ้ง ให้บอกตัวเองว่า
นี่คือความเป็นอนิจจังที่ทุกชีวิตมีโอกาสพานพบ
เวลาเจอคนที่ใช่แต่เขามีคู่แล้ว ให้บอกตัวเองว่า
นี่คือประจักษ์พยานว่าไม่มีใครได้ทุกอย่างดั่งใจหวัง
เวลาเจอภาวะหลุดจากอำนาจ ให้บอกตัวเองว่า
นี่คือความอนัตตาของชีวิตและสรรพสิ่ง
เวลาเจอคนกลิ้งกะล่อน ให้บอกตัวเองว่า
นี่คืออุทาหรณ์ของชีวิตที่ไม่น่าเจริญรอยตาม

เวลาเจอคนเลว ให้บอกตัวเองว่า
นี่คือตัวอย่างของชีวิตที่ไม่พึงประสงค์
เวลาเจออุบัติเหตุ ให้บอกตัวเองว่า
นี่คือคำเตือนว่าจงอย่าประมาทซ้ำอีกเป็นอันขาด
เวลาเจอศัตรูคอยกลั่นแกล้ง ให้บอกตัวเองว่า
นี่คือบททดสอบว่าที่ว่า “มารไม่มีบารมีไม่เกิด”
เวลาเจอวิกฤต ให้บอกตัวเองว่า
นี่คือบทพิสูจน์สัจธรรม “ในวิกฤตย่อมมีโอกาส”
เวลาเจอความจน ให้บอกตัวเองว่า
นี่คือวิธีที่ธรรมชาติเปิดโอกาสให้เราได้ต่อสู้ชีวิต
เวลาเจอความตาย ให้บอกตัวเองว่า
นี่คือฉากสุดท้ายที่จะทำให้ชีวิตมีความสมบูรณ์

อ้างอิง
http://th.wikipedia.org/wiki/
http://www.mahamakuta.inet.co.th/buddhism/bud~311.html
http://library.uru.ac.th/webdb/images/Ca35.htm
http://watsansai.igetweb.com/index.php?mo=3&art=91858
http://gotoknow.org/blog/marisa8/248677
http://www.dhamma.mbu.ac.th
http://www.salatham.com/do-donts/1whatis.htm
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=16261
http://www.larndham.net/cgi-bin/kratoo.pl/009910.htm
http://www.igetweb.com/www/watsansai/index.php?mo=3&art=22425
http://watsansai.igetweb.com/index.php?mo=3&art=91860
http://www.vcharkarn.com/vcafe/144470
http://www.buddha.s5.com/buddhat19.htm
http://guru.google.co.th/guru/thread?tid=5f472261aef9af3f
http://www.larndham.net/cgi-bin/kratoo.pl/010731.htm
http://www.agalico.com/board/showthread.php?t=78
http://watsansai.igetweb.com/index.php?mo=3&art=70491