ความเป็นมาของชนชาติไทย ตอนที่ ๑
ความเป็นมาเบื้องต้น
คำว่า "ไทย"
เป็นชื่อรวมของชนเผ่ามองโกล ซึ่งแบ่งแยกออกเป็นหลายสาขา เช่น
ไทยอาหม ในแคว้นอัสสัม ไทยใหญ่ ไทยน้อย ไทยโท้ ในแคว้นตั้งเกี๋ย
อุปนิสัยปกติมักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รักสันติ
และความเป็นอิสระ
ความเจริญของชนชาติไทยนี้
สันนิษฐานว่า มีอายุไร่เรี่ยกันมากับความเจริญของ ชาวอียิปต์
บาบิโลเนีย และอัสสิเรียโบราณ
ไทยเป็นชาติที่มีความเจริญมาก่อนจีน และก่อนชาวยุโรป
ซึ่งขณะนั้นยังเป็นพวกอนารยชนอยู่ เป็นระยะเวลา ประมาณ ๕,๐๐๐ -
๖,๐๐๐ ปีมาแล้ว ที่ชนชาติไทยได้เคยมีที่ทำกินเป็นหลักฐาน
มีการปกครองเป็นปึกแผ่น และมีระเบียบแบบแผนอยู่ ณ
ดินแดนซึ่งเป็นประเทศจีนในปัจจุบัน
เมื่อประมาณ ๓,๕๐๐ ปี
ก่อนพุทธศักราช ชนชาติไทยได้อพยพข้ามเทือกเขาเทียนชาน
เดินทางมาจนถึงที่ราบลุ่มอันอุดมสมบูรณ์ ทางตอนใต้ของจีน ณ
แถบลุ่มแม่น้ำฮวงโห มณฑลกวางตุ้ง มณฑลกวางสี และมณฑลยูนนาน
จนกระทั้งถึงแถบบริเวณลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง มณฑลเสฉวน
มาเป็นลำดับ และได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ ณ บริเวณที่แห่งนั้น
แล้วละเลิกอาชีพเลี้ยงสัตว์แต่เดิม เปลี่ยนมาเป็นทำการกสิกรรม
ความเจริญก็ยิ่งทวีมากขึ้น มีการปกครองเป็นปึกแผ่น
และได้ขยายที่ทำกินออกไปทางทิศตะวันออกตามลำดับ
ขณะที่ชนชาติไทยมีความเป็นปึกแผ่นอยู่
ณ ดินแดนและมีความเจริญดังกล่าว
ชนชาติจีนยังคงเป็นพวกเลี้ยงสัตว์
ที่เร่ร่อนพเนจรอยู่ตามแถบทะเลสาบแคสเบียน ต่อมาเมื่อ
ประมาณกว่าหนึ่งพันปีที่ไทยอพยพเข้ามาอยู่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำเรียบร้อยแล้ว
ชนชาติจีนจึงได้อพยพเข้ามาอยู่ในลุ่มน้ำดังกล่าวนี้บ้าง
และได้พบว่าชนชาติไทยได้ครอบครอง และมีความเจริญอยู่ก่อนแล้ว
อาณาจักรอ้ายลาว
ในระหว่างระยะเวลานั้น
เราเรียกตัวเองว่าอ้ายลาว หรือพวกมุง
ประกอบกันขึ้นเป็นอาณาจักรใหญ่ ถึงสามอาณาจักร ด้วยกันคือ
อาณาจักรลุง
ตั้งอยู่ทางตอนเหนือบริเวณต้นแม่น้ำเหลือง (หวงโห)
อาณาจักรปา
ตั้งอยู่ทางใต้ลงมาบริเวณพื้นที่ทางเหนือของมณฑลเสฉวน
อาณาจักรปาจัดว่าเป็นอาณาจักรที่สำคัญกว่าอาณาจักรอื่น
อาณาจักรเงี้ยว
ตั้งอยู่ทางตอนกลางของลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง
ทั้งสามอาณาจักรนี้
มีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ ประชากรก็เพิ่มมากขึ้น
จึงได้แผ่ขยายอาณาเขตออกมาทางทิศตะวันออก โดย
มีแม่น้ำแยงซีเกียงเป็นแกนหลัก
อาณาจักรอ้ายลาวถูกรุกราน
เมื่อประมาณ ๓๙๐ ปี
ก่อนพุทธศักราช พวกจีนได้ถูกชนชาติตาดรุกราน
พวกตาดได้ล่วงเลยเข้ามารุกรานถึงอาณาจักรอ้ายลาวด้วย
อาณาจักรลุงซึ่งอยู่ทางเหนือ ต้องประสบภัยสงครามอย่างร้ายแรง
ในที่สุดก็ต้องทิ้งถิ่นฐานเดิม อพยพลงมาทางนครปา ซึ่งอยู่ทางใต้
ปล่อยให้พวกตาดเข้าครอบครองนครลุง ซึ่งมีอาณาเขตประชิดติดแดนจีน
ฝ่ายอาณาจักรจีนในเวลาต่อมาเกิดการจลาจล
พวกราษฎรพากันอพยพหนีภัยสงคราม เข้ามาในนครปาเป็นครั้งแรก
เมื่ออพยพมาอยู่กันมากเข้า ก็มาเบียดเบียนชนชาติไทยในการครองชีพ
ชนชาติไทยทน การเบียดเบียนไม่ได้
จึงได้อพยพจากนครปามาหาที่ทำกินใหม่ทางใต้ครั้งใหญ่ เมื่อประมาณ
๕๐ ปี ก่อนพุทธศักราช แต่อาณาจักรอ้ายลาวก็ยังคงอยู่จนถึงประมาณ
พ.ศ. ๑๗๕ อาณาจักรจีนเกิดมีแคว้นหนึ่ง คือ แคว้นจิ๋น
มีอำนาจขึ้นแล้วใช้แสนยานุภาพเข้ารุกรานอาณาจักรอ้ายลาว
นับเป็นครั้งแรกที่ไทยกับจีนได้รบพุ่งกัน
ในที่สุดชนชาติไทยก็เสียนครปาให้แก่จีน เมื่อ พ.ศ.๒๐๕
ผลของสงครามทำให้ชาวนครปาที่ยังตกค้างอยู่ในถิ่นเดิม
อพยพเข้ามาหาพวกเดียวกันที่อาณาจักรเงี้ยว
ซึ่งขณะนั้นยังเป็นอิสระอยู่ไม่ได้อยู่ในอำนาจของจีน
แต่ฝ่ายจีนยังคงรุกรานลงทางใต้สู่อาณาจักรเงี้ยวต่อไป
ในที่สุดชนชาติไทยก็เสียอาณาจักรเงี้ยวให้แก่
พระเจ้าจิ๋นซีฮ่องเต้ เมื่อปี พ.ศ. ๓๒๘
อาณาจักรเพงาย
ตั้งแต่ พ.ศ. ๔๐๐ - ๖๒๑
เมื่ออาณาจักรอ้ายลาวถูกรุกรานจากจีน ทั้งวิธีรุกเงียบ
และรุกรานแบบเปิดเผยโดยใช้แสนยานุภาพ จนชน
ชาติไทยอ้ายลาวสิ้นอิสระภาพ จึงได้อพยพอีกครั้งใหญ่
แยกย้ายกันไปหลายทิศหลายทาง เพื่อหาถิ่นอยู่ใหม่
ได้เข้ามาในแถบลุ่มแม่น้ำสาละ วิน ลุ่มแม่น้ำอิรวดี
บางพวกก็ไปถึงแคว้นอัสสัม บางพวกไปยังแคว้นตังเกี๋ย
เรียกว่าไทยแกว บางพวกเข้าไปอยู่ที่แคว้นฮุนหนำ พวกนี้มี
จำนวนค่อนข้างมาก ในที่สุดได้ตั้งอาณาจักรขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๔๐๐
เรียกว่าอาณาจักรเพงาย
ในสมัยพระเจ้าขุนเมือง
ได้มีการรบระหว่างไทยกับจีน หลายครั้งผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ
สาเหตุที่รบกันเนื่องจากว่า ทางอาณาจักรจีน พระเจ้าวู่ตี่
เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา
และได้จัดสมณทูตให้ไปสืบสวนพระพุทธศาสนาที่ประเทศอินเดีย
แต่การเดินทางของสมณทูตต้องผ่านเข้ามาในอาณาจักรเพงาย
พ่อขุนเมืองไม่ไว้ใจจึงขัดขวาง
ทำให้กษัตริย์จีนขัดเคืองจึงส่งกองทัพมารบ
ผลที่สุดชาวเพงายต้องพ่ายแพ้ เมื่อ พ.ศ. ๔๕๖
ต่อมาอาณาจักรจีนเกิดการจลาจล
ชาวนครเพงายจึงได้โอกาสแข็งเมือง ตั้งตนเป็นอิสระ จนถึง พ.ศ. ๖๒๑
ฝ่ายจีนได้รวมกันเป็นปึกแผ่นและมีกำลังเข้มแข็ง
ได้ยกกองทัพมารุกรานไทย สาเหตุของสงครามเนื่องจากพระเจ้ามิ่งตี่
กษัตริย์จีนได้วางแผนการขยายอาณาเขต โดยใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือ
โดยได้ส่งสมณฑูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังประเทศใกล้เคียง
สำหรับนครเพงายนั้น เมื่อพระพุทธศาสนาแผ่ไปถึงพ่อขุนลิวเมา
ซึ่งเป็นหัวหน้าก็เลื่อมใส
ชาวนครเพงายโดยทั่วไปก็ยอมรับนับถือเป็นศาสนาประจำชาติ
ด้วยต่างก็ประจักษ์ในคุณค่าของพระธรรมอันวิเศษยอดเยี่ยม
นับว่าสมัยนี้เป็นสมัยสำคัญ
ที่พระพุทธศาสนาได้แผ่เข้ามาถึงอาณาจักรไทย คือ เมื่อประมาณ พ.ศ.
๖๑๒
เมื่อเป็นเช่นนั้นฝ่ายจีนจึงถือว่าไทยต้องเป็นเมืองขึ้นของจีนด้วย
จึงได้ส่งขุนนางเข้ามาควบคุมการปกครองนครเพงาย เมื่อทางไทยไม่ยอม
จึงเกิดผิดใจกัน ฝ่ายจีนได้กรีฑาทัพใหญ่เข้าโจมตีนครเพงาย
นครเพงายจึงเสียอิสระภาพ เมื่อ พ.ศ. ๖๒๑
อาณาจักรน่านเจ้า (พ.ศ. ๑๑๙๓ - ๑๘๒๓)
หลังจากนครเพงายเสียแก่จีนแล้ว
ก็ได้มีการอพยพครั้งใหญ่กันอีกครั้งหนึ่ง
ลงมาทางทิศใต้และทางทิศตะวันตก
ส่วนใหญ่มักเข้ามาตั้งอยู่ตามลุ่มแม่น้ำ
ในเวลาต่อมาได้เกิดมีเมืองใหญ่ขึ้นถึง ๖ เมือง ทั้ง ๖
เมืองต่างเป็นอิสระแก่กัน
ประกอบกับในห้วงเวลานั้นกษัตริย์จีนกำลังเสื่อมโทรม
แตกแยกออกเป็นสามก๊ก ก๊กของเล่าปี่ อันมีขงเบ้งเป็นผู้นำ
ได้เคยยกมาปราบปรามนครอิสระของไทย
ซึ่งมีเบ้งเฮกเป็นหัวหน้าได้สำเร็จ
ชาวไทยกลุ่มนี้จึงต้องอพยพหนีภัยจากจีน
ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๘๕๐
พวกตาดได้ยกกำลังเข้ารุกราน อาณาจักรจีนทางตอนเหนือ
เมื่อตีได้แล้วก็ตั้งตนขึ้นเป็นกษัตริย์ทางเหนือมี
ปักกิ่งเป็นเมืองหลวง ส่วนอาณาจักรทางใต้
กษัตริย์เชื้อสายจีนก็ครองอยู่ที่เมืองน่ำกิง
ทั้งสองพวกได้รบพุ่งกันเพื่อแย่งชิงความเป็นใหญ่
ทำให้เกิดการจลาจลไปทั่วอาณาจักร ผลแห่งการจลาจลครั้งนั้น
ทำให้นครอิสระทั้ง ๖ ของไทย คือ ซีล่ง ม่งเส ล่างกง มุ่งซุย
เอี้ยแซ และเท่งเซี้ยง กลับคืนเป็นเอกราช
นครม่งเสนับว่าเป็นนครสำคัญ
เป็นนครที่ใหญ่กว่านครอื่น ๆ และตั้งอยู่ต่ำกว่านครอื่น ๆ
จึงมีฐานะมั่นคงกว่านครอื่น ๆ
ประกอบกับมีกษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถ และเข้มแข็ง คือ
พระเจ้าสินุโล พระองค์ได้รวบรวมนครรัฐทั้ง ๖
เข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันรวมเรียกว่า อาณาจักรม่งเส หรือ
หนองแส
จากนั้นพระองค์ได้วางระเบียบการปกครองอาณาจักรอย่างแน่นแฟ้น
พระองค์ได้ดำเนินนโยบายผูกมิตรกับจีน เพื่อป้องกันการรุกราน
เนื่องจากในระยะนั้นไทยกำลังอยู่ในห้วงเวลาสร้างตัวจนมีอำนาจ
เป็นอาณาจักรใหญ่ที่มีอาณาเขตประชิดติดกับจีน
ทางฝ่ายจีนเรียกอาณาจักรนี้ว่า "อาณาจักรน่านเจ้า"
แม้ว่าอาณาจักรน่านเจ้าจะสิ้นรัชสมัยพระเจ้าสินุโลไปแล้วก็ตาม
พระราชโอรสของพระองค์ซึ่งสืบราชสมบัติ ต่อมาก็ทรงพระปรีชาสามารถ
นั่นคือพระเจ้าพีล่อโก๊ะ
พระองค์ได้ทำให้อาณาจักรน่านเจ้าเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม
อาณาเขตก็กว้างขวางมากขึ้นกว่าเก่า
งานชิ้นสำคัญของพระองค์อย่างหนึ่งก็คือ การรวบรวมนครไทยอิสระ ๕
นครเข้าด้วยกัน และการเป็นสัมพันธไมตรีกับจีน
ในสมัยนี้อาณาจักรน่านเจ้า ทิศเหนือจดมณฑลฮุนหนำ
ทิศใต้จดมณฑลยูนาน ทิศตะวันตกจดธิเบต และพม่า
และทิศตะวันออกจดมณฑลกวางไส
บรรดาอาณาจักรใกล้เคียงต่างพากันหวั่นเกรง
และยอมอ่อนน้อมต่ออาณาจักรน่านเจ้าโดยทั่วหน้ากัน
พระเจ้าพีล่อโก๊ะมีอุปนิสัยเป็นนักรบ จึงโปรดการสงคราม
ปรากฎว่าครั้งหนึ่ง
พระองค์เสด็จเป็นจอมทัพไปช่วยจีนรบกับชาวอาหรับ ที่มณฑลซินเกียง
และพระองค์ได้รับชัยชนะอย่างงดงาม
ทางกษัตริย์จีนถึงกับยกย่องให้สมญานามพระองค์ว่า ยูนานอ๋อง
พระองค์เป็นกษัตริย์ที่เห็นการณ์ไกล
มีนโยบายในการแผ่อาณาเขตที่ฉลาดสุขุมคัมภีรภาพ
วิธีการของพระองค์คือ
ส่งพระราชโอรสให้แยกย้ายกันไปตั้งบ้านเมืองขึ้นใหม่ทางทิศใต้
และทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่บริเวณ หลวงพระบาง ตังเกี๋ย
สิบสองปันนา สิบสองจุไทย (เจ้าไทย) หัวพันทั้งห้าทั้งหก
กาลต่อมาปรากฎว่าโอรสองค์หนึ่งได้ไปสร้างเมืองชื่อว่า
โยนกนคร ขึ้นทางใต้ เมืองต่าง ๆ
ของโอรสเหล่านี้ต่างก็เป็นอิสระแก่กัน
เมื่อสิ้นสมัยพระเจ้าพีล่อโก๊ะ (พ.ศ. ๑๒๘๙) พระเจ้าโก๊ะล่อฝง
ผู้เป็นราชโอรสได้ครองราชยสืบต่อมา
และได้ดำเนินนโยบายเป็นไมตรีกับจีนตลอดมา จนถึง พ.ศ. ๑๒๙๓
จึงมีสาเหตุขัดเคืองใจกันขึ้น มูลเหตุเนื่องจากว่า
เจ้าเมืองฮุนหนำได้แสดงความประพฤติดูหมิ่นพระองค์
พระองค์จึงขัดเคืองพระทัย ถึงขั้นยกกองทัพไปตีได้เมืองฮุนหนำ
และหัวเมืองใหญ่น้อยอื่น ๆ อีก ๓๒ หัวเมือง
แม้ว่าทางฝ่ายจีนจะพยายาม โจมตีกลับคืนหลายครั้งก็ไม่สำเร็จ
ในที่สุดฝ่ายจีนก็เข็ดขยาด และเลิกรบไปเอง
ในขณะที่ไทยทำสงครามกับจีน ไทยก็ได้ทำการผูกมิตรกับธิเบต
เพื่อหวังกำลังรบ และเป็นการป้องกันอันตรายจากด้านธิเบต
เมื่อสิ้นสมัยพระเจ้าโก๊ะล่อฝง
ราชนัดดาคือเจ้าอ้ายเมืองสูง (อีเหมาซุน)
ได้ขึ้นครองราชย์สืบต่อมา มีเหตุการณ์ในตอนต้นรัชกาล คือ
ไทยกับธิเบตเป็นไมตรีกัน และได้รวมกำลังกันไปตีแคว้นเสฉวนของจีน
แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ ในเวลาต่อมา
ธิเบตถูกรุกรานและได้ขอกำลังจากไทยไปช่วยหลายครั้ง
จนฝ่ายไทยไม่พอใจ ประจวบกันในเวลาต่อมา
ทางจีนได้แต่งฑูตมาขอเป็นไมตรีกับไทย
เจ้าอ้ายเมืองสูงจึงคิดที่จะเป็นไมตรีกับจีน
เมื่อทางธิเบตทราบระแคะระคายเข้าก็ไม่พอใจ จึงคิดอุบายหักหลังไทย
แต่ฝ่ายไทยไหวทันจึงสวมรอยเข้าโจมตีธิเบต ย่อยยับ
ตีได้หัวเมืองธิเบต ๑๖ แห่ง
ทำให้ธิเบตเข็ดขยาดฝีมือของไทยนับตั้งแต่นั้นมา
ในเวลาต่อมากษัตริย์น่านเจ้าในสมัยหลังอ่อนแอ
และไม่มีนิสัยเป็นนักรบ ดังปรากฎในตามบันทึกของฝ่ายจีนว่า
ในสมัยที่พระเจ้าฟ้า ขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ. ๑๔๒๐ นั้น
ได้มีพระราชสาส์นไปถึงอาณาจักรจีน ชวนให้เป็นไมตรีกัน
ทางฝ่ายจีนก็ตกลง เพราะยังเกรงในฝีมือ และความเข้มแข็งของไทยอยู่
แต่กระนั้นก็ไม่ละความพยายามที่จะหาโอกาสรุกรานอาณาจักรน่านเจ้า
ปรากฎว่าพระเจ้าแผ่นดินจีนได้ส่งราชธิดา หงางฝ่า
ให้มาอภิเษกสมรสกับพระเจ้าฟ้า เพื่อหาโอกาสรุกเงียบในเวลาต่อมา
โดยได้พยายามผันแปรขนบธรรมเนียมประเพณีในราชสำนัก
ให้มีแบบแผนไปทางจีนทีละน้อย ๆ
ดังนั้นราษฎรน่านเจ้าก็พากันนิยมตาม จนในที่สุด
อาณาจักรน่านเจ้าก็มีลักษณะคล้ายกับอาณาจักรจีน
แม้ว่าสิ้นสมัยพระเจ้าฟ้า กษัตริย์น่านเจ้าองค์หลัง ๆ
ก็คงปฎิบัติตามรอยเดิม ประชาชนชาวจีนก็เข้ามาปะปนอยู่ด้วยมาก
แม้กษัตริย์เองก็มีสายโลหิตจากทางจีนปะปนอยู่ด้วยแทบทุกองค์
จึงก่อให้เกิดความเสื่อม ความอ่อนแอขึ้นภายใน
มีการแย่งชิงราชสมบัติกันในบางครั้ง
จนในที่สุดเกิดการแตกแยกในอาณาจักรน่านเจ้า
ความเสื่อมได้ดำเนินต่อไปตามลำดับ จนถึงปี พ.ศ. ๑๘๒๓
ก็สิ้นสุดลงด้วยการโจมตีของกุบไลข่าน (Kublai Khan)
กษัตริย์แห่งราชอาณาจักรจีน
อาณาจักรน่านเจ้าก็ถึงกาลแตกดับลงในครั้งนั้น
อาณาจักรสิบสองจุไทย
ต่อมาไทยต้องอพยพถอยร่นลงมาทางใต้
จนมาตั้งอาณาจักรขึ้นใหม่อีก เรียกว่า "อาณาจักรสิบสองจุไทย หรือ
เจ้าไทย สิบสองปันนา" มีประมุขคนหนึ่งชื่อขุนบรม ให้โอรสทั้ง ๒
พระองค์ชื่อ "ขุนลอ" รวมเมืองหลวงพระบาง เวียงจันทน์
และมณฑลอุดรฝ่ายเหนือ รวมเข้าเป็นอาณาจักรลานช้างหรือล้านช้าง
เพราะมีช้างมาก ส่วนขุนไชยพงศ (พระเจ้าสิงหนวัต)
ได้ตั้งอาณาจักรลานนาหรือล้านนาขึ้นเพราะมีไร่นาสมบูรณ์ ในราว
พ.ศ. ๑๒๘๐ มีเมืองโยนกนาคนคร หรือโยนก เชียงแสน
เป็นราชธานีมาด้วยดีเป็นเวลาถึง ๒๐๐ ปี ก็อ่อนอำนาจลง
ขอมจึงยกกำลังไปตีแคว้นล้านนาได้สำเร็จ
แต่เกิดมีกษัตริย์องค์หนึ่งที่ครองแคว้นล้านนาอยู่ ทรงพระนามว่า
"พระเจ้าพังคราช" ต้องเสด็จหนีไปอยู่เมืองเวียงสีทองด้วย
ตอนนี้เองไทยได้อุบัติมหาวีรราชเจ้า
คือ "พระเจ้าพรหมมหาราช" เป็นโอรสของพระเจ้าพังคราช
ซึ่งหนีขอมไปอยู่ที่เวียงสีทองด้วยกัน เมื่ออายุได้ ๑๖ ปี
ได้กราบทูลพระราชบิดามิให้ส่งส่วยแก่ขอม ครั้นขอมยกทัพไปปราบปราม
ก็สามารถนำทัพไทยตีกองทัพขอมแตกกระจายกลับไปชิงเอาเมืองกลับคืนมาได้
ถึงเมืองชะเลียง เมืองสวรรคโลก แผ่อาณาเขตไปถึงเวียงจันทน์
และหลวงพระบาง และทรงสร้างเมืองชัยปราการขึ้นเป็นราชธานีใหม่
แล้วขึ้นครองราชย์แทน ทรงพระนามว่า "พระเจ้าพรหมมหาราช" เมื่อราว
พ.ศ. ๑๖๖๑ - ๑๗๙๗ เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์เชียงราย
ต่อจากนั้นก็มาถึงสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี
มีพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ เป็นปฐมกษัตริย์ไทย
ดังนั้นการนับเอาพระมหากษัตริย์ของไทยที่มีสมัญญานามว่า "มหาราช"
ลงท้ายนั้น ถ้านับรวมพระเจ้าพรหมมหาราชด้วยก็มี ๘ พระองค์
แต่ถ้าจะนับตั้งแต่สุโขทัยเป็นราชธานีมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์
จวบปัจจุบันก็มีเพียง ๗ พระองค์ คือ
๑. พ่อขุนรามคำแหงมหาราช
๒. สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
๓. สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
๔.
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
๕.
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
๖.
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
(สมเด็จพระปิยมหาราช)
๗.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
ความเป็นมาของชนชาติไทย
และพระมหากษัตริย์ไทย ตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน ทั้งที่เป็นตำนาน
ทั้งที่เป็นประวัติศาสตร์ บอกเล่าสืบต่อ ๆ กันมา
และมีหลักฐานยืนยันเชื่อถือได้
นักประวัติศาสตร์และกระทรวงศึกษาธิการยอมรับว่ามีมหาราช เพียง ๗
พระองค์ ส่วนมหาราชก่อนยุคสุโขทัยยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน
ซึ่งปกป้องคุ้มครองประเทศให้มีความเป็นเอกราชอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้
พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์รวมทั้งมหาราชและมิใช่มหาราช
พสกนิกรชาวไทยย่อมซาบซึ้งดีว่า ล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีพระคุณ
มีวีรกรรมอย่างดีงามเป็นส่วนใหญ่
ตามเวลาและโอกาสที่จะเอื้ออำนวยให้
พร้อมด้วยข้าราชการชั้นสูงสุดฝีมือเยี่ยม ชั้นสมเด็จเจ้าพระยาอีก
๔ ท่าน คือ
๑.สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก
(ต่อมาเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑
แห่งราชวงศ์จักรี)
๒.สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์
(ดิศ บุนนาค)
๓.สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ
(ทัต บุญนาค)
๓.สมเด็จเจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์
(ช่วง บุนนาค)
แหล่งข้อมูล
๗ ราชวงศ์ พระมหากษัตริย์ไทย
และเหตุการณ์สำคัญ. ศรณรงค์ ปิยะกาญจน์.
|