ปฏิทินปี พ.ศ.๒๕๔๘ คลาดเคลื่อน
พลตำรวจตรี สุชาติ เผือกสกนธ์
ผมได้รับปฏิทินปี พ.ศ.๒๕๔๘ ซึ่งภาคเอกชนพิมพ์แจกจ่ายในเทศกาลปีใหม่ เมื่อได้เปิดดูเพื่อตรวจสอบวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาได้แก่ วันมาฆบูชา วิสาขบูชา อาสาฬหบูชา รวมทั้งวันเดือนปีทางจันทรคติอื่นๆ แล้ว ได้พบความผิดปกติโดยเปรียบเทียบกับปฏิทินดาราศาสตร์ดังนี้
ปฏิทินที่แจกจ่ายทั่วไป
ปฏิทินดาราศาสตร์
หมายเหตุ
๑. วันมาฆบูชา (วันเพ็ญบูรณมี ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือนสาม) ๒. วันวิสาขบูชา (วันเพ็ญบูรณมี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนหก)
๓. วันอาสฬหบูชา (วันเพ็ญบูรณมี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนแปด)
วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘
วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๔๘
วันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๔๘
วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘
วันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๔๘
วันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๔๘
วันเพ็ญบูรณมี คือ วันพระจันทร์เต็มดวง ท่านผู้อ่านคงจะแปลกใจว่า เมื่อวันวิสาขบูชาตามปฏิทินที่แจกจ่ายทั่วไปมีความแตกต่างกับปฏิทินดาราศาสตร์ถึง ๒ วัน เหตุใดวันอาสาฬหบูชาจึงกลับมาตรงกันได้ ทั้งที่จำนวนวันในเดือนจันทรคติถือว่าเดือนคู่ (เดือนยี่ เดือนสี่ เดือนหก เดือนแปด เดือนสิบ เดือนสิบสอง) มี ๓๐ วัน เป็นวันข้างขึ้น ๑๕ วัน วันข้างแรม ๑๕ วัน และเดือนคี่ (เดือนอ้าย เดือนสาม เดือนห้า เดือนเจ็ด เดือนเก้า เดือนสิบเอ็ด) มี ๒๙ วัน เป็นวันข้างขึ้น ๑๕ วัน วันข้างแรม ๑๔ วัน ยกเว้นบางปีที่ผลการคำนวณอัตตาเถลิงศกตามคัมภีร์สุริยาตร์มี อธิกวาร จึงจะให้เพิ่มจำนวนวันในเดือนเจ็ดซึ่งเป็นเดือนคี่จาก ๒๙ วันเป็น ๓๐ วัน
ประเด็นนี้ ผมได้ตรวจสอบแล้วปรากฏว่า ในปฏิทินที่แจกจ่ายทั่วไปได้เพิ่มจำนวนวันในเดือนเจ็ดจาก ๒๙ วันเป็น ๓๐ วัน กล่าวคือ เดือนนี้จะมีวันแรม ๑๕ ค่ำ ทั้งที่ผลการคำนวณอัตตาเถลิงศกของวันเดือนปีจันทรคติของจุลศักราชใหม่คือ จุลศักราช ๑๓๖๗ ปรากฏว่า ปีนี้มีปกติวาร (เดือนเจ็ดมี ๒๙ วัน) ปกติมาส (ปีนี้มีเดือนแปดเดือนเดียว ถ้าเป็นอธิกมาส ปีนั้นจะมีเดือนแปดสองเดือน) และปกติสุรทิน (ปีนี้ เดือนกุมภาพันธ์มี ๒๘ วัน ถ้าเป็น อธิกสุรทิน ปีนั้นเดือนกุมภาพันธ์จะมี ๒๙ วัน)
ถึงแม้ว่าเจตนาในการเพิ่มปรับให้จำนวนวันในเดือนเจ็ดจาก ๒๙ วันมาเป็น ๓๐ วันนั้นเพื่อปรับให้วันอาสฬหบูชาตรงกับวันเพ็ญบูรณมีเดือนแปด มิฉะนั้นจะทำให้วันเข้าพรรษาซึ่งเป็นวันถัดไป (วันแรม ๑ ค่ำเดือนแปด) ซึ่งพระภิกษุสงฆ์จะต้องเข้าจำพรรษาตามพุทธบัญญัติผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปก็ตาม แต่เป็นการแก้ไขปัญหาโดยมิได้ยึดหลักวิชาการที่โบราณจารย์ได้วางไว้
ความผิดพลาดคลาดเคลื่อนของปฏิทินประจำปีได้เกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว เนื่องจากผู้ที่เป็นต้นแบบในการจัดทำปฏิทินนี้ได้ใช้ข้อมูลที่ได้คำนวณล่วงหน้าโดยผู้จัดทำปฏิทินโหราศาสตร์เล่มหนึ่ง ซึ่งเป็นที่นิยมใช้กันแพร่หลายในวงการโหราศาสตร์เมืองไทยปัจจุบัน (ไม่ใช่ปฏิทินโหราศาสตร์ที่ผมได้จัดทำขึ้น) เนื่องจากผู้ที่ใช้ไม่ทราบข้อเท็จจริง ผมได้ตรวจสอบย้อนหลังแล้วพบว่า ความผิดพลาดคลาดเคลื่อนของปฏิทิน พ.ศ.๒๕๔๘ เป็นผลสืบเนื่องมาจากความผิดพลาดคลาดเคลื่อนของปฏิทิน พ.ศ.๒๕๔๗ และปีก่อนหน้านั้น ซึ่งปรากฏให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ว่า พระจันทร์ในวันวิสาขบูชามิได้เต็มดวงหรือเป็นวันเพ็ญบูรณมี เนื่องจากปฏิทินเล่มนี้แตกต่างจากปฏิทินดาราศาสตร์ถึง ๒ วัน และในวันอาสฬหบูชาก็ไม่ตรงกับวันเพ็ญบูรณมี ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือนแปดเช่นกัน ดังนั้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๗ พระภิกษุสงฆ์จึงเข้าจำพรรษาก่อนพุทธบัญญัติ ๑ วัน
เรื่องวันเข้าพรรษานี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงบรรยายไว้ในตำราอธิกมาสอธิกวาร และปักษคณนาว่า ถ้าพระจันทร์เพ็ญไม่ถึงฤกษ์อาษาฒ (อาสฬหะฤกษ์) แล้ว ถึงพระเจ้าแผ่นดินจะมาบังคับให้พระสงฆ์เข้าพรรษาแต่เดือน ๖ ก็ดี เดือน ๗ ก็ดี ก็ไม่เป็นเข้าพรรษาได้ ถ้าจะทำตามศาสนาแล้วก็ต้องถือศาสนาอย่างเดียว พระจันทร์ที่เพ็ญและดับนั้นเป็นผู้ชี้ วันพระแก่คนทั้งปวง ก็การจะสังเกตว่า พระจันทร์เพ็ญเมื่อไร ดับเมื่อไร พระจันทร์เพ็ญนั้นสังเกตง่ายคือ วันไร เห็นพระจันทร์ดวงกลมแท้ ไม่ร่อยหน้าร่อยหลังนั้นเป็นวันเพ็ญ (๑)
เหตุที่ผมจำเป็นต้องเขียนบทความนี้ก็เพื่อเตือนสติผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำปฏิทินประจำปีทั้งปฏิทินหลวงและปฏิทินที่แจกจ่ายทั่วไป ได้พึงสังวรณ์ในกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นจอมปราชญ์ในวิชาการโหราศาสตร์เมืองไทย และสมควรจะดำเนินตามรอยพระยุคลบาทอย่างไร
การปฏิบัติหน้าที่หนึ่งใดย่อมมีความผิดพลาดได้เป็นธรรมดา และเมื่อผู้กระทำได้รับรู้สำนึกในความผิดพลาดนั้นแล้วรีบหาทางแก้ไข ก็เป็นสิ่งที่น่าอนุโมทนา แต่ถ้ายังคงดื้อรั้น มีมิจฉาทิฏฐิปล่อยปละละเลยให้เกิดความผิดพลาดสะสมเรื้อรังกันต่อไป อันจะนำไปสู่ความเสื่อมทรามให้แก่วิชาการโหราศาสตร์เมืองไทย ซึ่งถือว่าเป็นมรดกชิ้นหนึ่งซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานไว้ให้อย่างแน่นอน
หมายเหตุ
๑. ปฏิทินโหราศาสตร์ พ.ศ.๒๕๑๗ ถึง พ.ศ.๒๔๗๙ โดย หลวงอรรถวาทีธรรมประวรรต