การฝึก(นั่ง)สมาธิด้วยตนเอง

            ก่อนการฝึก(นั่ง)สมาธิ ต้องเดินจงกรมก่อนเป็นเวลา ครึ่งชั่วโมง วัตถุประสงค์ของการ เดินจงกรม ก็เพื่อกรองอารมณ์ต่างๆ ที่ได้ผจญมาตลอดทั้งวัน มิฉะนั้นจิต จะวุ่นวายทำสมาธิ ไม่ได้ผล เมื่อเดินจงกรมเป็นเวลาครึ่งชั่วโมงจะกรองอารมณ์ต่างๆได้บางส่วน ทำให้เกิด “สมาธิตื้น” ถือเป็นการทำสมาธิขั้นต้น จำเป็นต้องทำก่อนการนั่งสมาธิทุกครั้ง

ขั้นตอนการเดินจงกรม

(การเดินจงกรม หมายถึงการเดินกลับไปกลับมาอย่างเป็น สมาธิ)
            1. กำหนดเส้นทางเดินจงกรม กว้าง 2 ฟุต ยาว 3 -5 เมตร (ที่ใดก็ได้ที่ไม่มีคน พลุกพล่าน)
            2. ยืนตรงจุดเริ่มต้นทางเดินจงกรม พนมมือตั้งจิตกล่าวคำอธิฐาน ว่า เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา พุทโธ พุทโธ พุทโธ สาธุฯ
            3. เอามือลง ใช้มือขวาจับข้อมือซ้าย วางไว้ตรงท้องน้อย ห้อยมือพอสบายไม่เกร็ง
            4. กำหนดเอาจิตวางไว้ที่หน้าผาก ไม่ต้องหลับตา ตามองทางเดินไกลออกไป ประมาณ
1.5-2 เมตร
            5. เริ่มบริกรรมคำว่า “พุทโธ ๆ” อยู่ในใจ พร้อมก้าวเท้าขวาออกเดินก่อน เดินภาวนา พุทโธ ๆ ไปในลักษณะการเดินปกติ ไม่ช้าหรือไม่เร็วเกินไป
            6. เมื่อสุดทางเดินให้ค่อยๆ หมุนตัวกลับทางขวามือ ก้าวเดินกลับมาด้วยเท้าขวา ก่อนเหมือนตอนเริ่มต้น
7. ให้เดินกลับไป กลับมา และภาวนา “พุทโธ ๆ” อยู่ในใจ จนครบเวลา ครึ่งชั่วโมง แล้วกลับมายืน ตรงจุดเริ่มต้น พนมมือขึ้นกล่าวคำแผ่เมตตา
            “ข้าพเจ้าขออุทิศบุญกุศลจากการเดินจงกรมนี้แก่คุณบิดามารดา คุณครูบาอาจารย์ เทพเทวดา เจ้าที่เจ้าทาง ญาติมิตร คู่ครอง เจ้ากรรมนายเวรของข้าพเจ้า และสรรพสัตย์ทั้งหลาย ขอจงได้รับประโยชน์และมีความสุขเช่นเดียวกับข้าพเจ้าเถิด สาธุฯ”

วิธีการนั่งสมาธิ ด้วยตนเอง

            หลังจากเดินจงกรมแล้วให้นั่งสมาธิต่อทันที ควรปิดโทรศัพท์ และห้ามใครเข้ามา รบกวนในระหว่างการนั่งสมาธิ (เสื้อผ้าที่ใส่ควรสวมใส่ให้สบายตัวไม่จำเป็นต้องเป็นสีขาว เสมอไป สีอะไรก็ได้ เป็นสถานที่ใดก็ได้ ห้องนอนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นห้องพระ แต่ต้องเป็น สถานที่สงบ ที่มีอากาศพอสบาย มีแสงสว่างน้อย หรือควรปิดไฟ หรือเปิดไฟสลัวๆ ในขณะนั่ง สมาธิ)

ท่าทำสมาธิ

            1. นั่งกับพื้น นั่งขัดสมาธิขาขวาทับขาซ้าย มือขวาหงายทับมือซ้าย วางไว้บนตัก
            2. นั่งบนเก้าอี้ ห้อยเท้าลงตามสบาย (กรณีที่นั่งบนพื้นไม่ได้) มือขวาหงายทับมือซ้าย วางไว้บนตัก
            3. นั่งกับพื้น เหยียดขาตรงตามสบาย (กรณีนั่งขัดสมาธิไม่ได้) มือขวาหงายทับมือซ้าย วางไว้บนตัก
            4. นอน (กรณีผู้ป่วยที่ลุกไม่ได้ ) ให้นอนในท่าที่สบาย
            5. นอน กรณีทำก่อนนอนเพื่อให้หลับในสมาธิ ให้นอนตะแคงขวา ขาเหยียดตรงมือ ซ้ายวางแนบบนลำตัว
            6. ยืน (ในกรณีที่ไม่สามารถนั่งได้) ยืนตรงในท่าสบาย ใช้มือขวาจับข้อมือซ้าย วางไว้ ตรงท้องน้อย ห้อยมือพอสบายไม่เกร็ง
            หมายเหตุ : กรณีผู้ที่ไม่สามารถเดินจงกรมได้ ให้ภาวนาหรือสวดมนต์แทนการเดิน จงกรม โดยสวดบทสรรเสริญพระพุทธคุณ (อิติปิโสฯ เท่าอายุ) เป็นเวลาครึ่งชั่วโมงก่อนแล้วจึง ทำสมาธิฯ

เริ่มทำสมาธิ

            หลังจากเตรียมตัว (ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น) แล้ว จึงเริ่มทำสมาธิ ด้วยการตั้งจิตให้สงบ ระลึกถึงคุณ พระพุทธเจ้า คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ คุณบิดามารดา คุณครูบาอาจารย์ ขอให้มา ดลบันดาลจิตของข้าพเจ้าให้รวมลงเป็นสมาธิ และโปรดคุ้มครองข้าพเจ้าในขณะที่ทำสมาธินี้ ด้วยเถิด พุธโธ ธัมโม สังโฆ .................พุทโธ พุทโธ พุทโธ สาธุฯ             ให้นึกว่าจะเอาจิตของเราวางไว้ตรงหน้าผากแล้วหลับตา บริกรรมคำว่า พุทโธๆ อยู่ในใจ หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกช้าๆ บริกรรมคำว่า พุทโธๆ ไปเรื่อยๆ จนครบเวลาที่กำหนด แล้วจึงลืมตาขึ้น ตั้งจิตให้ดี และกล่าวคำแผ่เมตตา ดังนี้
            สัพเพ สัตตา สะทา โหนตุ อะเวรา สุขะชีวิโน
            ขอให้สัตย์ทั้งหลาย จงเป็นผู้ไม่มีเวรต่อกันและกัน จงเป็นผู้ดำรงชีพอยู่เป็นสุขทุก เมื่อเถิด
            กะตัง ปุญญัง ผะลัง มัยหัง สัพเพ ภาคี ภะวันตะเต
            ขอให้สัตย์ทั้งสิ้นนั้น จงเป็นผู้มีส่วนได้เสวยผลบุญ ที่ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญแล้วนั้นเทอญฯ สาธุฯ

หมายเหตุ:
            -ในครั้งแรกให้ทำสมาธิในเวลาตั้งแต่น้อยก่อน คือ 10 นาที วันต่อมาก็ 15 นาที วันต่อมาก็ 20 นาที วันต่อมาก็ 30 นาที เมื่อทำได้ครบ 30 นาที ก็พอแล้ว ไม่จำเป็นต้องนั่งนาน ต่อมาทุกวันก็ทำสมาธิวันละ 30 นาที ทำวันละกี่ครั้งก็ได้             และควรจะทำทุกวันให้ต่อเนื่องอย่าให้ขาด ดังนี้จะได้ประโยชน์มากเพราะการทำ สมาธินานๆ อาจไม่เป็นผลดี จิตอาจหลงไปที่อื่นได้ ทำให้เสียพลังสมาธิไปก็มี
            -การทำสมาธิในครั้งแรกๆ อาจหลับไปก็มี ก็ปล่อยให้หลับไป ตื่นขึ้นมาหากยังไม่ครบ เวลาที่กำหนดก็ทำต่อไป ไม่ต้องไปฝืน แต่เมื่อทำบ่อยๆ เข้า เมื่อรู้ว่าจะหลับก็ให้ดึงสติขึ้นมาหย่า ให้หลับ ฝึกบ่อยๆ ก็จะไม่หลับ
            -เมื่อทำสมาธิครบเวลาที่กำหนดแล้ว หลังจากถอนจิตออกจากสมาธิ หากทำสมาธิ ได้ผล จะรู้สึกสดชื่นแจ่มใส น้ำเสียงที่พูดออกมาจะนุ่มนวลและไพเราะขึ้นกว่าเดิม นั่นแสดงว่า ทำสมาธิได้ผล คือจิตรวมเป็นสมาธิและได้พลังจิตสะสมไว้ใช้ในชีวิตประจำวันได้
            -แต่หากทำสมาธิครบเวลาที่กำหนดแล้ว หลังจากถอนจิตออกจากสมาธิ รู้สึกอ่อน เพลียง่วงเหงาหาวนอน น้ำเสียงที่พูดออกมาแหบแห้งลงกว่าเดิม นั่นแสดงว่าทำสมาธิไม่ได้ผล คือจิตไม่รวมเป็นสมาธิและได้เสียพลังจิตของตนเองที่สะสมไว้เดิมด้วย ให้ทบทวนการทำสมาธิ ใหม่ และทำจงกรมให้มากขึ้นกว่าเดิม ขยันก็ทำ ขี้เกียจก็ทำ ว่างก็ทำ ไม่ว่างก็ทำ อย่างนี้ถือว่า ท่านมีวาสนาในการรับบุญ ไม่มีเวลาทำ รอให้ว่างก่อนค่อยทำ เอาไว้พรุ่งนี้ก่อนค่อยทำ อย่างนี้ ถือว่าท่านไร้วาสนาในการรับบุญ บุญจากการทำสมาธิถือเป็นบุญขั้นสูงสุด และยิ่งใหญ่ที่สุด ตัดกรรมได้เร็วที่สุด ผู้ไม่มีวาสนา มิได้ทำ
            ตอนต่อไปท่านจะได้รู้จักกับลักษณะของฌานในระดับต่างๆ.....จากประสบการณ์จริงของ.......อ. รุ่งนภา
                                  โปรดติดตามในตอนหน้า “ลักษณะของฌาณ”