พระไพรีพินาศ กฤษฎา
พิณศรี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์
ปัจจุบัน ถ้าจะเอ่ยถึง
พระไพรีพินาศ
คนส่วนใหญ่คงต้องนึกถึงพระกริ่งและเหรียญพระพุทธรูปปางประทานพร
ซึ่งวัดบวรนิเวศวิหารได้จัดสร้างขึ้นเนื่องในวาระฉลองพระชนมายุครบ
๘๐ พรรษาของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เมื่อปี
พ.ศ.๒๔๙๖
รวมทั้งพระกริ่งและพระพิมพ์ผงภาพพระพุทธรูปพุทธลักษณะเดียวกันนั้น
ซึ่งทางวัดได้จัดสร้างขึ้นในระยะหลังอีกหลายรุ่น
โดยจำลองแบบมาจากพระพุทธรูปศิลาองค์หนึ่ง
ที่มีผู้นำมาถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งทรงผนวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร
ตามประวัติที่บันทึกไว้ใน ตำนานวัดบวรนิเวศวิหาร
ได้กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของพระพุทธรูปองค์นี้ไว้ว่า
...พระไพรีพินาศองค์เดิมเป็นพระพุทธรูปศิลาขนาดย่อม
หน้าพระเพลา ๑ คืบ ๔ นิ้ว สูงตลอดพระรัศมี ๑ ศอก มีเศษไม่ถึงนิ้ว
เป็นพระพุทธรูปแบบพระธยานิพุทธเจ้า ปางประทานพร สมัยศรีวิชัย
เล่ากันว่าพระพุทธรูปนี้ มีผู้นำมาถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ
เมื่อยังทรงผนวชอยู่ในราว พ.ศ.๒๓๙๑ ได้ถวายพระนามว่า
พระไพรีพินาศ
...พระไพรีพินาศใคร่ครวญตามพระนามน่าจะได้เชิญประดิษฐานไว้ในเก๋งน้อยที่สร้างใหม่
ณ ทักษิณชั้นบนแห่งพระเจดีย์ในครั้งนั้น
เว้นไว้แต่ได้ประดิษฐานในครั้งยังทรงผนวชเมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๑
ที่เป็นคราวสิ้นเสี้ยนศัตรูครั้งแรก
ปัจจุบัน
พระไพรีพินาศประดิษฐานอยู่ที่ซุ้มเก๋งด้านทิศเหนือของพระเจดีย์ประธานของวัด
ในหนังสือ ศิลปกรรมวัดบวรนิเวศวิหาร
ได้กล่าวถึงเจดีย์ที่สร้างเก๋งประดิษฐานพระไพรีพินาศไว้ตอนหนึ่งว่า
...พระเจดีย์ไพรีพินาศเป็นพระเจดีย์ศิลา
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สร้างขึ้นบรรจุพระพุทธวจนะ
ประดิษฐานอยู่ในคูหาภายในเจดีย์ใหญ่วัดบวรนิเวศวิหาร
เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๐๗
ระหว่างการซ่อมแซมพระเจดีย์ได้พบกระดาษขาว มีตราแดง ๒ ดวง
มีอักษรเขียนว่า
พระสถูปเจดีย์ศิลาบัลลังก์องค์นี้จงมีนามพระไพรีพินาศเจดีย์เทอญ
อีกหน้าหนึ่งเขียนไว้ว่า
เพราะตั้งแต่ได้ทำมาคนไพรีก็วุ่นวายยับเยินไปโดยลำดับ
พุทธลักษณะของพระไพรีพินาศเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งแบบวัชราสน์
(ขัดสมาธิเพชร)
บนปัทมาสน์อันประกอบด้วยกลีบบัวคว่ำและกลีบบัวหงายมีเกสรบัวประดับ
ทรงแสดงวรมุทรา (ปางประทานพร) โดยหงายพระหัตถ์ซ้ายวางบนพระเพลา
พระหัตถ์ขวาวางหงายเหนือพระชานุด้านขวา
องค์พระพุทธรูปมีพระอังสากว้าง บั้นพระองค์เรียวเล็ก
ครองอุตราสงค์เรียบไม่มีริ้ว
ห่มเฉียงเปิดพระอังสาขวาโดยมีสังฆาฏิสั้นพาดบนพระอังสาซ้าย
และมีขอบพระอุตราสงค์พาดผ่านพระกรซ้าย พระพักตร์ค่อนข้างกลม
พระนลาฏค่อนข้างกว้าง พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่ง
พระโอษฐ์อมยิ้ม พระกรรณยาวจรดพระอังสา ขมวดพระเกศาเป็นก้นหอย
มีเกตุมาลาขนาดใหญ่ประดับด้วยเส้นพระเกศา
มีรูปเปลวไฟอยู่เบื้องบน กับทั้งมีประภามณฑลอยู่เบื้องหลัง
อาจกล่าวได้ว่าพระไพรีพินาศมีรูปแบบทางศิลปกรรมคล้ายกับพระพุทธรูปในศิลปะชวา
ซึ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะอินเดียแบบปาละอีกต่อหนึ่ง
ลักษณะทางประติมานวิทยาคือการแสดงวรมุทราหรือประทานพรนั้น
คงมีความหมายถึงพระธยานิพุทธเจ้าประจำทิศใต้
ตามคติความเชื่อในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน ที่มีชื่อว่ารัตนสัมภวะ
สำหรับมูลเหตุแห่งการถวายพระนามพระพุทธรูปองค์ดังกล่าวนี้ว่า
"พระไพรีพินาศ
ก็เนื่องมาจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่า
ทรงได้พระพุทธรูปองค์นี้มาในระยะเวลาติดต่อกับที่ผู้ที่จ้องทำลายพระองค์
คือกรมหลวงรักษ์รณเรศ หรือหม่อมไกรสร
มีเหตุอันที่ทำให้ต้องแพ้ภัยตัวเอง
กล่าวคือ
เมื่อครั้งที่เจ้าฟ้ามงกุฎฯ
เสด็จมาประทับจำพรรษาที่วัดบวรนิเวศวิหาร
ได้มีกลุ่มผู้ที่มุ่งจะทำลายพระองค์ นำโดยกรมหลวงรักษ์รณเรศ
(หม่อมไกรสร)
ผู้ซึ่งหมายมั่นจะขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบต่อจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ด้วยเหตุนี้
จึงมีความคิดกำจัดผู้ที่จะเป็นคู่แข่งสำคัญด้วยวิธีการกลั่นแกล้งต่างๆ
นานา เป็นต้นว่า เอาข้าวต้มร้อนๆ
ใส่บาตรที่พระองค์ทรงถืออยู่ในระหว่างทรงบิณฑบาต
เพื่อให้ทรงเกิดทุกขเวทนา
ซึ่งการกระทำของหม่อมไกรสรที่มีต่อพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎฯ นั้น
มีอยู่อย่างต่อเนื่องเป็นระยะๆ แต่พระองค์ก็หาได้ตอบโต้ไม่
กลับทรงวางพระองค์อยู่ในอุเบกขาธรรมเสมอมา
จนกระทั่งวันหนึ่ง มีผู้นำพระพุทธรูปมาถวาย
พระองค์ได้นำพระพุทธรูปองค์นี้ประดิษฐานไว้ในที่อันควร
และทรงกระทำการสักการบูชาอยู่เสมอ ภายหลังจากนั้นไม่นาน
หม่อมไกรสรก็มีอันต้องประสบเหตุเภทภัย
เนื่องจากกระทำผิดกฎมณเฑียรบาลอย่างร้ายแรง
จนถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์
พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎฯ
ทรงเห็นว่าเป็นนิมิตหมายอันดี
ที่ตั้งแต่พระองค์ทรงได้พระพุทธรูปองค์นี้มา
ไพรีหรือศัตรูก็พินาศย่อยยับลงไปตามลำดับ
จึงทรงถวายพระนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า พระพุทธไพรีพินาศ
ภายหลังเมื่อพระองค์ได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบต่อจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ก็ได้ทรงประกอบพระราชพิธี ผ่องพ้นไพรี
อันเป็นพระราชพิธีที่แสดงถึงพระบารมีและบุญญาธิการของพระองค์ที่สามารถผ่านพ้นการจ้องทำลายของเหล่าศัตรูมาด้วยดี
โดยมิได้ทรงตอบโต้แต่ประการใด
แต่เหล่าศัตรูกลับต้องพ่ายแพ้ภัยของตนเองไปในที่สุด
ด้วยเหตุนี้
รูปจำลองของพระไพรีพินาศซึ่งสร้างขึ้นมาเป็นวัตถุมงคล
จึงเป็นที่นิยมชมชอบของนักสะสมพระเครื่องและพุทธศาสนิกชนทั่วไป
เนื่องจากเชื่อว่ามีพุทธคุณในทางปกป้องคุ้มครองให้แคล้วคลาดปลอดภัยจากศัตรูผู้ที่คิดร้าย
เฉกเช่นเดียวกับพระไพรีพินาศองค์ที่นำมาเป็นต้นแบบ
| |